ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) สรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายและผันผวนสูง หลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิต ผู้พัฒนาอสังหาฯ แรงงานก่อสร้าง รวมทั้งผู้บริโภคที่แม้จะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแต่ยังคงมีอุปสรรคจากสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินโดยตรง ต้องชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป ขณะที่เทรนด์ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตแบบ New Normal ผู้บริโภคเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบและมองหาที่อยู่อาศัยในแถบชานเมืองมากขึ้น คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี65 จะฟื้นตัวตามสภาพเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจะเน้นระบายสต็อกคงค้างควบคู่กับการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดเพื่อดึงดูดผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) และนักลงทุนที่มีกำลังซื้อพร้อม ผู้บริโภคยังมองมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นตัวช่วยสำคัญ และเป็นปัจจัยบวกช่วยกระตุ้นให้ตลาดอสังหาฯ กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
นางกมลภัทร แสวงกิจ
โควิด-19พ่นพิษอสังหาฯปี64ยังผันผวนสงครามราคาดุเดือด
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เปิดเผยว่า ตัวแปรสำคัญของภาคธุรกิจในปี 2564 นี้ยังคงมาจากวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลักของประเทศอย่างทั่วหน้า รวมถึงภาคอสังหาฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ว่าปี 2564 จะเป็นปีที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อีกครั้ง แต่สถานการณ์ที่ผันผวนยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร ประกอบกับการแข่งขันสงครามราคาที่ดุเดือดของผู้พัฒนาอสังหาฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ทำให้เกิดการดูดซับกำลังซื้อจากผู้บริโภคไปแล้วพอสมควร เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเงินจากการแพร่ระบาดฯ ที่ยืดเยื้อ จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชะลอการซื้อออกไปก่อน แม้ว่าปีนี้ภาครัฐจะออกมาตรการที่เอื้อต่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถช่วยกระตุ้นการเติบโตในตลาดอสังหาฯ ได้มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจกับสถานการณ์โควิด-19 และไม่มีกำลังซื้อเพียงพอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดฯ”

สร้างความกังวล ฉุดคนไทยชะลอซื้อบ้าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้ต้องวางแผนการเงินอย่างรัดกุมในระยะยาว ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า เกือบ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (71%) ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยแต่เลือกที่จะชะลอการซื้อออกไปก่อน โดย 39% วางแผนจะซื้อบ้านภายใน 1-2 ปี หากได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ก็จะทำให้การซื้อขายอสังหาฯได้มากขึ้น รวมไปถึงมีซัพพลายใหม่เข้ามาในตลาดได้มากขึ้นเช่นกัน โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนยอมรับเทคโนโลยีในการซื้อขายอสังหาฯมากขึ้น เพื่อปิดการขายให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเผยว่าอุปสรรคสำคัญที่มีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยมาจากการขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 ถึง 66% รองลงมาคือราคาที่อยู่อาศัย (63%) ตามมาด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง และธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อบ้านในสัดส่วนเท่ากัน (37%) สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเงินยังคงเป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ของคนหาบ้าน

นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (80%) มองว่ารัฐบาลยังไม่ค่อยมีส่วนช่วยที่จะทำให้คนในประเทศสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ โดยมาตรการเยียวยาภาคอสังหาฯ ที่ต้องการมากที่สุดจากภาครัฐ คือ การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านทั้งบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ (57%) เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ถอดบทเรียน “โอกาส – ความท้าทาย” ของอสังหาฯ ปี’64 

ภาพรวมการเติบโตของภาคอสังหาฯ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไปก่อน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม และหันมาเน้นระบายสต๊อกคงค้างผ่านสงครามราคาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงนี้แทน จึงทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในปี 2564 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในภาพรวมยังคงปรับตัวลดลงถึง 11% จากรอบปีก่อน นอกจากนี้ จำนวนอุปทานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอุปทานคงค้างในตลาดบวกกับอัตราการดูดซับที่ลดลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มอุปทานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีความต้องการในตลาดสูง โดยบ้านเดี่ยวมีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้น 33% จากปีก่อนหน้า ทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 30% ส่วนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 11%

“ดีมานด์ ซัพพลายเริ่มกลับมา มีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนหันกลับมานักลงทุนอสังหาฯที่เป็นแนวราบมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีให้เห็นบ้างเล็กน้อย แต่มีราคาสูงกว่าคอนโดฯในระดับทั่วๆไป ซึ่งต้องใช้เงินทุนมาก และค่าดูแลรักษาก็สูงกว่า แต่ในด้านการปล่อยเช่าก็จะได้ราคาที่ดีกว่า” นางกมลภัทร กล่าว

นอกจากเทรนด์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะได้รับความนิยมจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแล้ว เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยยังกระจายออกไปในทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (City Fringe) และแถบชานเมือง (Outskirts) มากขึ้น เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบในราคาที่เอื้อมได้ ประกอบกับปัจจัยบวกจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทางสู่ใจกลางเมืองได้สะดวกขึ้น (ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน : กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ถือเป็นสัญญาณบวกที่ทุกภาคส่วนเฝ้ารอ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะฟื้นตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดท่องเที่ยวในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐ และการระดมฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามไปด้วย

“ปัจจุบันราคาคอนโดฯปรับค่อนข้างต่ำสุดแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการพยายามเคลียร์สต๊อกให้หมดภายในปีนี้ให้ได้ ซึ่งใครอยากซื้อช่วงนี้ก็ยังมีราคาที่ถูกให้เลือกพอสมควร หากเศรษฐกิจดีขึ้นคงมีการปรับราคาที่สูงขึ้น และคงเห็นภาพได้ในไตรมาส 1/2565 และจะเห็นซัพพลายใหม่ได้ในไตรมาส 2/2565  เพราะจำนวนสต๊อกที่เหลือก็ไม่มาก และผู้ประกอบการก็สามารถสร้างผลกำไรได้พอสมควรแล้ว” นางกมลภัทร กล่าว

จับตาทิศทางอสังหาฯ ปี 65 รอเวลาฟื้นตามเศรษฐกิจ

นางกมลภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าปี 2565 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ ไทย โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกในช่วงท้ายปี 2564 แต่คาดว่าระดับราคาอสังหาฯ จะยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก ควบคู่ไปกับการออกแคมเปญหรือโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) และนักลงทุนที่มีความพร้อมและหวังผลตอบแทนในระยะยาว ในขณะที่อุปทานยังไม่มีสัญญาณล้นตลาด (Oversupply) หรือเกิดภาวะฟองสบู่ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ความคืบหน้าในการควบคุมการแพร่ระบาดฯ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาฯ จากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการเติบโตโดยตรง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจึงควรติดตามสถานการณ์การระบาดฯ หลังเปิดประเทศ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจ

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*