นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่       บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า หลังจากบริษัทได้ส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ซึ่งได้ครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามแล้ว และยังไม่ได้รับการแจ้งถึงแนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐ

ขณะที่บริษัทกำลังประสบปัญหาหนักจากการต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน

ปัจจุบันภาระหนี้สะสมที่รัฐบาลมีต่อบริษัทในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 20,768 ล้านบาท

หลังจากเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา บีทีเอสได้ลงนามในสัญญากับกรุงเทพธนาคมเพื่อขายและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางรวม 18.20 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทางรวม 12.58 กิโลเมตร และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 บีทีเอสได้รับการว่าจ้างจากกรุงเทพธนาคม ให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวเป็นระยะเวลา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับการสิ้นสุดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพส่วนต่อขยาย (สายสีลมและสายสุขุมวิท)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สภากทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณของกทม.เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่ง คสช.ดังนั้นในฐานะที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นบริษัทลูกของบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ใช้สิทธิตามสัญญาในการติดตามทวงถามกรุงเทพฯและกรุงเทพธนาคม โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้รัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้ โดยในปี 2562 ได้เสนอขอให้บริษัทเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาวแทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวกับภาครัฐ        ซึ่งนำมาสู่ผลการเจรจาร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 และผ่านการตรวจสอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*