2 นากยกอสังหาฯภาคเหนือ เชียงใหม่-พิษณุโลก โอดปัจจัยลบปี62 ลากยาวปี63 เจอพิษโควิด-19 ซ้ำ ส่งผลท่องเที่ยวทรุด อสังหาฯซบ ผู้ประกอบการปรับตัวขายผ่านออนไลน์ แต่ยังยอดยังไม่เข้าเป้า แนะรัฐเพิ่มมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจ และมองสภาพความเป็นจริง สร้างความเชื่อมั่น
นายปราชญ์ วงศ์วรรณ
นายปราชญ์ วงศ์วรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.เชียงใหม่ เปิดเผย ถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมาว่า ตัวเลขยอดขายและยอดโอน จะช้ากว่าปี 2561 ที่มียอดการเปิดตัวโครงการใหม่และยอดขายสูงมาก  ส่วนในปี 2562 นั้น ภาคธุรกิจอสังหาฯจะประสบปัญหาจากปัจจัยลบทั้งสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกนอกประเทศของรัฐบาลจีน ส่วนปี2563 ภาคอสังหาฯก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รวมไปถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย หากผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นตลาดอสังหาฯก็ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะจ.เชียงใหม่ นั้น ภาพรวมตลาดนั้นพึ่งพากับธุรกิจท่องเที่ยวมาก จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเช่นกัน

 

“ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด การกู้สินเชื่อของลูกค้าก็ไม่ค่อยมั่นใจในศักยภาพของตนเอง หวั่นว่าจะกู้ไม่ผ่าน แต่หลังจากนั้นก็ทำให้ผู้บริโภคมีวินัยทางการเงินมากขึ้น สามารถทราบศักยภาพทางการเงินของตนเอง และซื้อบ้านได้ในระดับที่เท่าไหร่”

สำหรับมาตรการต่างๆของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง ที่จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2563 นี้ ถือว่าไม่เพียงพอแล้ว เพราะทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อออกไปก่อน และอาจจะไปซื้อในช่วงปลายปีที่มาตรการใกล้หมดระยะเวลา ส่งผลให้ตลาดในช่วงนี้ซบเซาไปอีก ดังนั้นภาครัฐควรที่จะมีมาตรการใหม่เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยจ.เชียงใหม่ โอกาสที่จะพัฒนาบ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านเป็นไปได้ยากมาก เพราะราคาที่ดินค่อนข้างสูง  จึงอยากให้ภาครัฐมองถึงภาพความเป็นจริงให้มากขึ้นด้วย

ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)  ไม่ค่อยจะเกี่ยวมากนัก แต่ที่ผ่านมาสถาบันการเงินก็มีการช่วยเหลือบ้าง แต่ถ้าเป็นในส่วนของผู้ประกอบการก็จะเป็นเรื่องดี เพราะหากไม่มีเงินมาหมุนเวียนในการพัฒนาต่อไปได้ ปัญหาการลดการจ้างงานก็จะตามมาอย่างแน่นอน

นายยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ

ด้านนายยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ  นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ณ วันนี้คงประสบปัญหากันทั่วประเทศ กำลังซื้อที่หดตัวลง ซึ่งเป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย สำหรับจ.พิษณุโลก นั้นซัพพลายใหม่มีปริมาณที่ลดลง ส่งผลให้อัตราการดูดซับลดลงไปด้วย ทำให้อสังหาฯใน จ.พิษณุโลก ค่อนข้างทรงตัว โดยในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ผู้ประกอบการก็มีการปรับตัวขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสของผู้ซื้อ แม้ว่าผู้ประกอบการต่างๆจะมียอดขายที่ลดลงก็ตาม สำหรับ New Normal ใหม่หลังโควิด-19 ระบาด พบว่าพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไป มีความร่วมมือในการอยู่อาศัยมากขึ้น  ดังนั้นมองว่า การมองหาที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการเข้าเยี่ยมชมโครงการ ควรมีการนัดหมายล่วงหน้า

“มองว่า ณ วันนี้สินค้าเกษตร มีส่วนทำให้กำลังซื้อขาดการหมุนเวียนไป  และอยากให้ภาครัฐช่วยปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ก็สามารถทำให้กลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงการ และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น มองว่าการลดดอกเบี้ย เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางมากกว่า” 

ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงิน คิดว่าเป็นการเข้าถึงไม่ได้เฉพาะเจาะจง คิดว่าการที่รัฐบาลนำเงินเยียวยาไปแล้วนั้น เป็นเพียงแค่การประทังชีวิตของประชาชนให้อยู่ได้มากกว่า แต่ไม่ได้เข้าถึงผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่น ส่วนการที่สถาบันการเงินปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ถือว่าน้อยไป สำหรับผู้ที่อยากมีบ้าน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*