ซีบีอาร์อีเผยโควิด-19 ส่งผลพฤติกรรมกลุ่มบริษัทฯเช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน หันให้ความสำคัญโคเวิร์กกิ้งสเปซ ตอบโจทย์การทำงานกลุ่มมิลเลนเนียล   ไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก ระบุบางบริษัทพลิกวิกฤตเช่าห้องประชุมห้องจัดเลี้ยงรร.เป็นพื้นที่สำรองในการประชุมเมื่อมีความจำเป็น ด้านการก่อสร้างอาคารสำนักงานอาจเลื่อนเปิดตัว พร้อมปรับแผนบริหารความเสี่ยงเพิ่มความต่อเนื่องของธุรกิจ รองรับความต้องการของผู้เช่า
นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ
นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CBRE เปิดเผยว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 บริษัทหลายแห่งได้พยายามทดลองใช้วิธีการทำงานนอกสำนักงาน (สนง.) หรือทำงานจากบ้าน (Work From Home) เพื่อลดค่าใช้จ่ายหรือเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของกลุ่มมิลเลนเนียล  แต่ในขณะนี้แทบทุกบริษัท แม้กระทั่งบริษัทที่ยังไม่เคยมีการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยี ก็ถูกบังคับให้ต้องใช้วิธีการทำงานแบบใหม่นี้โดยปริยาย หลายบริษัทที่กำลังใช้นโยบายการทำงานจากบ้านเริ่มรับรู้ว่าการทำงานดังกล่าวสามารถที่จะทำได้จริงหากนำไปปรับใช้กับบางหน่วยงานในองค์กร  โดยสร้างสมดุลที่ดีระหว่างการมอบหมายความรับผิดชอบและการตรวจสอบการทำงานของทีมงาน ซึ่งอาจหมายถึงว่าสถานที่ทำงานในอนาคตจะเป็นพื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่น (Agile Workplace) โดยเป็นการผสมผสานระหว่างสำนักงานใหญ่ การทำงานจากบ้าน และโคเวิร์กกิ้งสเปซ

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้บริษัททั่วไปได้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า นโยบายการทำงานนอกสำนักงานที่วางแผนไว้นั้นใช้ได้จริงหรือไม่  ธุรกิจต่างๆ เริ่มตระหนักว่าแพลตฟอร์มหรือระบบพื้นฐานใดที่จำเป็นและยังขาดหายไปเพื่อรองรับการทำงานรูปแบบนี้  บริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีจะกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์รายแรกๆ ภายหลังจากสถานการณ์นี้

“หลายองค์กรจะมองหาสำนักงานย่อยและแพลตฟอร์มบนคลาวด์ เพื่อเป็นแผนสำรองให้มั่นใจว่าธุรกิจจะไม่หยุดชะงักหากไม่สามารถเข้าสำนักงานใหญ่ได้   โคเวิร์กกิ้งสเปซก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้  เพราะบริษัทสามารถเช่าพื้นที่ได้ตามต้องการเมื่อมีเหตุจำเป็นที่ไม่คาดคิด    อย่างไรก็ตามในช่วงหลังการระบาดโควิด-19 ผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการว่าพื้นที่ของตนเองมีความปลอดภัยและมีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี” นางสาวรุ่งรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ซีบีอาร์อีพบว่า ในขณะที่โรงแรมบางแห่งในกรุงเทพมหานครตัดสินใจปิดให้บริการในช่วงปิดเมืองหรือล็อคดาวน์เพราะอัตราการเข้าพักเหลือเพียงระดับเลขตัวเดียว   บางบริษัทกลับเช่าห้องประชุมหรือห้องจัดเลี้ยงในโรงแรมเป็นสัปดาห์เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำรองในการประชุมเมื่อมีความจำเป็น

นางสาวรุ่งรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดพื้นที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นซึ่งสนับสนุนการทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของพนักงาน เป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างมากในช่วงก่อนการระบาดโควิด-19   โดยในตอนแรก พื้นที่ประเภทนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับบริษัทในช่วงเวลาเช่นนี้   แต่ตามความหมายของความยืดหยุ่น พื้นที่ทำงานเหล่านั้นสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการทำงานตามกิจกรรมที่เกิดขึ้น (Activity Based Workplace) เพื่อสนับสนุนการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการกระจายทีมงานในสำนักงาน รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่การเป็นสำนักงานไร้การใช้กระดาษได้อย่างง่ายขึ้น

หากมองภาพในมุมที่กว้างขึ้น  แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีเห็นว่าการพัฒนาอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ หลายแห่งจะมีความล่าช้า เนื่องจากการก่อสร้างหยุดชะงักหรือถูกเลื่อนออกไป  เพราะผู้พัฒนาโครงการมีท่าทีตั้งรับมากขึ้นในการประเมินสถานการณ์แต่ละวัน   นอกจากนี้ยังอาจมีการปรับแผนการพัฒนาเพื่อทำให้โครงการน่าสนใจยิ่งขึ้นในช่วงหลังการระบาดโควิด-19 โดยปรับปรุงระบบการบริหารอาคาร ระบบกรองอากาศที่ดีขึ้น (เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังมีอยู่ในกรุงเทพฯ) หรือมีแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan – BCP) ที่ดีขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้เช่า

“ความยืดหยุ่นและการปรับตัวจะเป็นสิ่งสำคัญในตลาดอาคารสำนักงานช่วงหลังการระบาดโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเพื่อเตรียมความพร้อมทางธุรกิจสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย” นางสาวรุ่งรัตน์ กล่าวในที่สุด

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*