คลังย้ำไม่เลื่อนบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ แต่เลื่อนระยะเวลาการจัดเก็บออกไปเดือนส.ค. หวังให้อปท.มีเวลาเตรียมสำรวจ-ประเมินราคา  เชื่อไม่เป็นภาระเจ้าของทรัพย์สิน ลดปัญหาการจัดเก็บผิดพลาด
       
นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงสาเหตุการเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ไปในเดือนสิงหาคม 2563  ว่าเป็นเพราะกระบวนการสำรวจและประเมินทรัพย์สิน ทั้งที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางส่วนยังไม่พร้อม อีกทั้งกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล อปท.ทั่วประเทศ  จึงขอให้เลื่อนระยะเวลาออกไป แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความความเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย โดยยังมีผลตามกำหนดเดิม คือ ต้นปี 2563 แต่ช่วงระยะเวลาที่ผู้เสียภาษีตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปกติจะต้องเริ่มเข้ามาชำระในเดือนเมษายนของทุกปี จะต้องถูกเลื่อนระยะเวลาออกไปประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ท้องถิ่นได้มีเวลาเตรียมสำรวจ และประเมินราคาทรัพย์สินก่อนที่จะแจ้งไปยังผู้ถือครองสินทรัพย์ให้มาชำระภาษีฯ

 

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนไทยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่น่าจะเป็นการเพิ่มภาระภาษีให้กับเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากนัก และจะมีเกณฑ์มาตรฐานและมีเงื่อนไขที่ช่วยลดภาระรายจ่ายให้กับเจ้าของทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้น การลดหย่อน และการบรรเทา ในช่วง 2 ปีแรก แม้จะมีบางรายที่อาจเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็มีหลายรายเสียภาษีถูกลง เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีแบบเดิม คือ ภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ แต่ภาษีใหม่จะลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อาจทำให้การจัดเก็บภาษีเกิดความผิดพลาดตามมาได้

“ส่วนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ของกระทรวงมหาดไทย ในแต่ละปีจะมีประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งการนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ทดแทนนั้น กระทรวงการคลังเชื่อว่า น่าจะทำให้ฐานทรัพย์สินเดิมที่เคยเสียภาษีแบบเดิม เมื่อมาอยู่ในระบบภาษีใหม่ การจัดเก็บภาษีใหม่ก็น่าจะอยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพียงแต่อาจมีส่วนรายได้ภาษีที่มีเพิ่มเติม ก็คือ การจัดเก็บภาษีจากกลุ่มเจ้าของทรัพย์สินที่ไม่เคยอยู่ในระบบภาษี หรือได้รับประโยชน์จากการใช้ดุลพินิจมาก่อน” นายลวรรณ กล่าวในที่สุด

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*