สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 10 เชื่อมั่นอนาคตวงการก่อสร้างไทยสดใสเดินหน้าผลักดันตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติตั้งเป้าปลดล็อคศักยภาพของวงการ ด้านทรัพยากรบุคคล บทบาทของภาครัฐ และเทคโนโลยี

 

วันนี้ (26 กันยายน 2562) สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉลองครบรอบ 90 ปี ในฐานะหน่วยงานซึ่งมุ่งมั่นยกระดับพัฒนาการองค์รวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทย โดยจัดงานสัมมนาอนาคตวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเพื่อความยั่งยืน Future Construction 2019 : BUILT TO LAST” เพื่อแถลงความสำเร็จของสมาคมฯ ตลอด 9 ทศวรรษที่ผ่านมาและประกาศเป้าหมายต่อไปของสมาคมฯ โดยระบุเดินหน้าผลักดันภาคการก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันความก้าวหน้าในด้านคุณภาพแรงงานและการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่องค์รวม และด้านการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม

นายถาวร เสนเนียม

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “Future Construction 2019 : BUILT TO LAST” กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตเร็ว ความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบ และโอกาสทางธุรกิจที่ยืดหยุ่นและกว้างขวาง ประเทศไทยจึงมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการสร้างงาน พัฒนาการทางธุรกิจ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยพบว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 6.5% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นแรงส่งจากภาครัฐ 9% และจากภาคเอกชน 3.5% ขณะที่ในช่วงปี 2552-2560 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

อย่างไรก็ดี วงการก่อสร้างไทยยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยติดอันดับที่ 32 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ โดยธนาคารโลก และครองอันดับที่ 2 ของเอเซียนและอันดับที่ 9 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ทั้งนี้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังต้องพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มประเทศในแถบตะวันออก ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างอาเซียนจึงอยู่ในฐานะตัวแปรที่สำคัญ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย หนึ่งในฟันเฟืองหลักที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้กระทรวงคมนาคมจึงมุ่งมั่นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ทั้งในส่วนของทางหลวง ทางหลวงชนบทและความปลอดภัยของเส้นทาง เพื่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมสากลอยู่เสมอ โดยในวันนี้เรามุ่งผลักดันให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ ทั้งในด้านการขจัดความยากจน ด้านการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางธุรกิจ ด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน โดยสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการประสานพลังระหว่างทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคผู้ประกอบการธุรกิจ และภาคแรงงาน เพราะจะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน มาตรการและกระบวนการทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ และพัฒนาการที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ในส่วนของสมาคมฯ ก็ได้ลงนามข้อตกลงกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อร่วมกันยกระดับการดูแลสิทธิเด็กในกลุ่มบุตรหลานของแรงงานก่อสร้างในประเทศไทยให้มีคุณภาพ อันจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้สมาคมฯ ยังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการก่อสร้าง ด้วยการจัด INTERMAT ASEAN งานแสดงสินค้าและการประชุม สัมมนาระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อก่อเกิดการขยายเครือข่ายในการทำธุรกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ สมาคมฯมีเป้าหมายการเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 3 ประการ ประการที่หนึ่ง คือ ด้านแรงงาน ทั้งในด้านความขาดแคลน ด้านคุณภาพทางทักษะ และด้านต้นทุนค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อให้สามารถเข้าถึงแรงงานที่มีศักยภาพสูง และสร้างวงจรการทำงานที่ก่อให้เกิดการเติบโตขององค์กรในระยะยาว

ประการที่สอง คือ บทบาทของภาครัฐ ในการสนับสนุนให้ภาคการก่อสร้างไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงนโยบาย การควบคุมราคากลาง ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการด้านแรงงาน การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ การควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์โดยต่างชาติ และการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลได้แก่ประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง

และประการที่สาม คือ การปรับใช้นวัตกรรมในงานก่อสร้าง เพื่อยกระดับสายการผลิตและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ อีกทั้งประหยัดต้นทุนและเวลา

อนึ่ง : สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ที่ www.tca.or.th

เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือระหว่าง สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง ตั้งมั่นที่จะร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และพันธมิตร เพื่อดำเนินการส่งเสริมให้แรงงานเด็กหมดไปจากภาคการก่อสร้างอย่างเต็มความสามารถ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มั่นใจว่าบุตรหลานทุกคนของแรงงานก่อสร้างทั่วประเทศจะเข้าถึงสิทธิ์ของตนและทุกบริการทางสังคมที่เหมาะสม ตั้งแต่ในเรื่องการป้องกันคุ้มครองเด็ก การเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียน และการดูแลสุขภาพ

 เกี่ยวกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีพ.ศ. 2471 “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัติอย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งระบุว่า ธุรกิจเอกชนและสมาคมจะต้องจดทะเบียนการค้าอีกครั้งหนึ่งกับกรมการค้าภายใน จึงนำมาสู่การจดทะเบียนใหม่และการเปลี่ยนชื่อทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือจาก “สมาคมนายช่างแห่งประเทศไทย” เป็น “สมาคมนายช่างเหมาไทย” ในปีพ.ศ. 2509 และล่าสุดคือ “สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” ในปีพ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งมั่นส่งเสริมการประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างทุกสาขา ให้มีสมดุลและเป็นที่ไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งรัฐบาล เอกชน แรงงาน และประชาชน ส่งเสริมองค์ความรู้ในวิชาช่างรับเหมาก่อสร้างให้เจริญก้าวหน้าทันยุคทันสมัยทัดเทียมระดับนานาชาติ และส่งเสริมความสามัคคีและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในวงการก่อสร้างไทย โดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และนิติรัฐ เป็นรากฐานที่สำคัญ

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*