ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับตัวเลขการเติบโตของ GDP ปีนี้เพิ่มเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% รับสัญญาณการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ  หลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจากเดินทางเข้ามาในประเทศไม่ต่ำกว่า 7.4 ล้านคน รวมถึงกหารฟื้นตัวของภาคเกษตรที่ได้รับอานิสงค์จากราคาอาหารโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น ทดแทนรายได้หลักจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า EIC  ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก โดยประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้  เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.7 ล้านคน  ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย  โดยเฉพาะภาคบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น ของประชาชนในประเทศ ทั้งธุรกิจโรงแรม ขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ภาคเกษตรก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานที่ถูกกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนแ ละมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก

“การใช้จ่ายในประเทศปีนี้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์คงค้างจากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี โดย EIC ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 5.9% ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก”

ในส่วนของเงินเฟ้อ EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวสูงถึง 5.9% เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.9%  ซึ่งสูงสุดในรอบ 24 ปี สวนทางกับการทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ ที่จะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง โดย EIC วิเคราะห์ว่ารายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเติบโตช้าลงตามตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงในปีนี้

โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนกว่า 7 ล้านครัวเรือนหรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด ส่งผลซ้ำเติมทำให้สถานะทางการเงินถดถอยลงทั้งจากสภาพคล่องที่ลดลงและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากครัวเรือนบางส่วนที่ต้องกู้มาใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ ถือเป็นความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทยที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับนโยบายการเงิน EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. จะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสช่วง 3 นี้ จากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงและเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เริ่มปรับสูงขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*