เอ็มดีคนใหม่ บสส.พร้อมรับภารกิจท้าทาย ล่าสุดเตรียมดึงแบงก์ร่วมเป็นพันธมิตรหวังต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเข้าบริหารหนี้เสริมรายได้แกร่ง คาดมีความชัดเจนไตรมาส 1/65 เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรั้งตำแหน่ง 1 ใน 2 ผู้นำตลาด รับปีนี้พลาดเป้าซื้อหนี้จากที่ตั้งไว้ 10,000 ล้านบาท ส่งผลชะลอเปิดประมูลหนี้เสีย ยันไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงเจตนารมณ์เดิมช่วยเหลือ-ฟื้นฟูปัญหาหนี้สินของประเทศเป็นหลัก
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า  รู้สึกยินดีที่ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ SAM องค์กรที่มีภารกิจยิ่งใหญ่และเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ นับว่าเป็นความท้าทายที่สุดที่ได้เข้ามาบริหารงานในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนจำนวนมากขาดรายได้และมีปัญหาการชำระหนี้ SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ควบคู่การสนองนโยบายและมาตรการภาครัฐด้วยการดำเนินงานเชิงรุก โดยยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้เป็นสำคัญขณะนี้

สำหรับแผนการดำเนินงานของ บสส.นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารรายหนึ่งในการร่วมทุนกับบริษัท เพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งบริษัทจะเข้าไปบริหารหนี้ให้กับธนาคารที่เป็นพันธมิตร ทำให้บริษัทมีรายได้จากการบริหารหนี้เข้ามาเสริมได้มากขึ้น โดยที่การร่วมทุนดังกล่าวยังคงต้องรอการปรับกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งคาดว่าการร่วมทุนกับพันธมิตรธนาคารที่เจรจาอยู่นั้นจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/2565 และการร่วมทุนดังกล่าวบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่าพันธมิตรธนาคาร เนื่องจากทางพันธมิตรธนาคารต้องมีการป้องกันในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ทำให้ต้องถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าบริษัท

ทั้งนี้ปัจจุบันจะเห็นว่าการแข่งของธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) มีการแข่งขันที่สูงขึ้น และมีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามา โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและธนาคารพาณิชย์ต่างๆที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเข้ามาดำเนินธุรกิจ AMC ซึ่งมองว่าทุกคนมองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทำให้มีการร่วมทุนกันเพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาด AMC มีสูงขึ้น และปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจ AMC เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 60 ราย ที่เป็นธุรกิจที่ Active อยู่ในตลาด

โดยในส่วนของบริษัทยังคงเดินหน้าในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจ เพื่อการรักษาอันดับความเป็นผู้นำในตลาดในอันดับ 1 และ 2 อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับภารกิจหลักของบริษัทที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศ และช่วยเหลือฟื้นฟูลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่บริษัทได้เดินหน้าในการช่วยเหลือลูกหนี้ และแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับลูกหนี้ในเชิงรุก

ส่วนการซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปี 2564 บริษัทยอมรับว่า ปีนี้ทำได้พลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปี 10,000 ล้านบาท หลังจากที่การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปีนี้กระทบมาต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารมีการชะลอการเปิดประมูลหนี้เสียออกมา โดยจะเห็นว่าในช่วงต้นปีมีหนังสือเชิญบริษัทเข้าไปร่วมประมูลหนี้ในปีนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท แต่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเพียง  60,000 ล้านบาท ที่ทางสถาบันการเงินเปิดประมูลหนี้

อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันที่สูงจากผู้เล่นในตลาดที่มีมาก ทำให้การประมูลหนี้มีความท้าทายและแข่งขันราคามากขึ้น ทำให้ในสิ้นปี 2564 บริษัทคาดว่าจะซื้อหนี้เข้ามาได้ราว 5,000-6,000 ล้านบาท โดยที่ในช่วงไตรมาส 4/2564 บริษัทได้เข้าไปประมูลหนี้เสียจากธนาคาร 2 ราย มูลหนี้เสียรวม 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับหนี้เสียเข้ามาบริหารในส่วนที่บริษัทเข้าไปประมูล ซึ่งจะเน้นไปที่หนี้ที่มีหลักประกันเป็นหลัก โดยที่ปัจจุบันพอร์ตหนี้เสียที่บริษัทบริหารอยู่รวมกว่า 300,000 แสนล้านบาท

สำหรับทิศทางของปริมาณหนี้เสียในปี 2565 บริษัทมองว่ายังไม่เห็นปริมาณของหนี้เสียเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นมาก เพราะยังมีมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ที่มีผลถึงสิ้นปี 2565 ทำให้ปริมาณหนี้เสียที่สถาบันการเงินจะมีการเปิดประมูลออกมาจะยังไม่กลับไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 100,000 ล้านบาท คาดว่าจะกลับมาในระดับดังกล่าวได้ในช่วงปี 2566 หลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ไปแล้ว ซึ่งจะเห็นปริมาณหนี้เสียเข้ามาในระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทตั้งเป้าเข้าไปประมูลซื้อหนี้เข้ามา 10% ของมูลหนี้เสียที่เปิดประมูลในปี 2565

ในส่วนของแหล่งเงินทุนที่บริษัทจะนำมาใช้ในการรองรับการเข้าซื้อหนี้มาบริหารนั้นส่วนหนึ่งจะมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ค่อนข้างมาก และในปี 2565 บริษัทเตรียมแผนในการออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้จัดอันดับเคดิตเรตติ้ง จากทริส เรตติ้ง ที่ระดับ AA+ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำแผนการยื่นไฟลิ่งกับที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะสามารถเริ่มออกหุ้นกู้ได้ในช่วงไตรมาส 2/2565 โดยจะนำเงินดังกล่าวมาใช้รองรับการเข้าซื้อหนี้

ทั้งนี้บริษัทยืนยันว่ายังไม่มีแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะบริษัทยึดมั่นต่อพันธกิจหลักของบริษัทตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 2543 ตามความตั้งใจของภาครัฐ ที่ต้องการให้บริษัทเข้ามาช่วยเหลือและฟื้นฟูปัญหาหนี้สินของประเทศเป็นหลัก ทำให้การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯบริษัทไม่ได้มีการวางแผนไว้

สำหรับผลการดำเนินงานและความสำเร็จ ณ เดือนตุลาคม 2564 สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้า NPL ไปแล้วจำนวน 54,899 ราย คิดเป็นมูลค่าตามบัญชี 341,448 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย NPA ได้ทั้งสิ้น 10,496 รายการ ราคาประเมินทรัพย์ 51,914 ล้านบาท ด้านการประมูลซื้อสินทรัพย์เพื่อเพิ่มขนาดพอร์ต SAM สามารถซื้อสินทรัพย์ได้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 16,569 ราย มูลค่าตามบัญชี 113,621 ล้านบาท ขณะที่คลินิกแก้หนี้ มีจำนวนลูกค้าที่ผ่านคุณสมบัติและสมัครเข้าโครงการได้รวมทั้งสิ้น  68,071 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 5,163 ล้านบาท  ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2543 SAM สามารถนำส่งเงินคืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ)  ไปแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ 255,000 ล้านบาท

ส่วนการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) SAM มีนโยบายมุ่งเน้นให้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นอันดับแรก โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นสำคัญรวมถึงร่วมปรึกษาหารือให้ได้ข้อยุติภายใต้แนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ หรือดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยที่ผ่านมา SAM จัดโครงการ “แบ่งเบาภาระลูกค้าในภาวะวิกฤตโควิดระบาด ระลอก 3 ” เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนพิเศษ รวมทั้งนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง  ปัจจุบัน SAM มีจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 20,727 ราย มูลค่าตามบัญชี 354,320 ล้านบาท

ด้านการจำหน่ายทรัพย์สินทรัพย์สินรอการขาย (NPA) SAM มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการนำทรัพย์สินที่ทิ้งร้างมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งคืนทรัพย์สินเหล่านี้กลับสู่ระบบ และนำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งการประมูลและการเสนอซื้อโดยตรง รวมทั้งโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่น่าสนใจอีกมากมาย ปัจจุบัน SAM มีทรัพย์สินรอการขายหลากหลายประเภทในทำเลดีทั่วไทย ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ที่ดินเปล่าและทรัพย์เพื่อการลงทุน ฯลฯ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น ประมาณ 4,000 รายการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท

นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ในปี 2560 SAM ยังได้รับมอบหมายภารกิจเพิ่มเติมในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยประเภทลุกหนี้ที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน (Non-Bank) รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง ที่ค้างจ่ายหรือไม่ได้จ่ายหนี้บัตรเกินกว่า 90 วัน ภายใต้โครงการ “คลินิกแก้หนี้ by SAM”  โดยล่าสุด “คลินิกแก้หนี้ by SAM” ได้ขยายเกณฑ์คุณสมบัติผู้เป็นหนี้เสียที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจาก เดิม ที่ต้องมีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็น ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าที่เป็นหนี้เสียบัตรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่

1.การต่ออายุมาตรการยาแรงระยะที่ 3 “จ่ายเท่าที่ไหว” ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564 โดยลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% (เงื่อนไขเป็นไปตามที่โครงการกำหนด)

2.การปรับเกณฑ์ด้านอายุจากเดิมไม่เกิน 65 ปีเป็นอายุ 70 ปี โดยนับรวมระยะเวลาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

3.การปรับอัตราดอกเบี้ยจากเดิม 4-7% เป็นอัตราเดียว (Single Rate) ที่ 5%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*