ซี.พี.แลนด์ฯเปิดแผน
5 ปี ทุ่มงบ 2,000 ล้านบาท ลงทุน 37 โรงแรงใหม่  รวมไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง ในทุกแบรนด์  ปี65 จ่อขยายฐานผุด “บัดเจท โฮเทล” ที่ ปราจีนบุรี ขอนแก่น สมุทรสาคร และบุรีรัมย์ เผยหลังประกาศเปิดประเทศอัตราการเข้าพัก “แกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ” เฉลี่ยไม่ถึง 10% ขณะที่ “แกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช” สวนกระแสโควิด-19 กลุ่มธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน เหมาให้พนักงานเข้า Bubble and Seal เกิน 50%  ประกาศจุดแข็งเครือ CP เตรียมจับมือ “ทรูมันนี่วอลเล็ท”เสริมความแกร่งด้านการตลาด
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร โรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) CPLAND เปิดเผยว่า ความมั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 จะมีอัตราการเติบโตกว่าปี 2564 มากกว่า 4% ผู้ประกอบการจะมีการลงทุนให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียน เพราะปัจจุบันในระบบยังมีเม็ดเงินอยู่มาก สำหรับในส่วนของ CPLAND ที่ผ่านมาไม่ได้มีการลงทุนจนเกินตัว และในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาไม่ได้มีการซื้อที่ดินแปลงใหม่แต่อย่างใด เพราะยังมีที่ดินสะสมเตรียมพร้อมจะพัฒนาโครงการทั้งในรูปแบบของโรงแรมและคอนโดมิเนียม อยู่ประมาณ 10-20 กว่าแปลง ที่สามารถพัฒนาแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 30 ปี

โดยแผนภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากปี 2565-2569 จะเปิดตัวโรงแรมใหม่อีก อีก 37 แห่งใช้งบลงทุนเพิ่มประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีโรงแรมในเครือไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง ในทุกแบรนด์  และในปี 2565 บริษัทฯมีแผนลงทุนพัฒนาโรงแรมใหม่ ภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน ดี” ซึ่งเป็น “บัดเจท โฮเทล”อีกอย่างน้อย 4 แห่ง ใน จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ขอนแก่น สมุทรสาคร และบุรีรัมย์ โดยในเบื้องต้นมีความชัดเจนในการลงทุน 3 จังหวัดแรกแล้ว แต่ละแห่งจะใช้งบในการลงทุนประมาณ 60-70 ล้านบาท ส่วนจ.บุรีรัมย์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ปัจจุบันมี 3 แบรนด์หลัก ได้แก่

1.แกรนด์ ฟอร์จูน โฮเทล (City Hotel)ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวครึ่ง- 5 ดาว ที่มีขนาดเกิน 250 ห้องพัก ได้แก่ แกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ,แกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช และฟอร์จูน โคราช จ.นครราชสีมา

2.ฟอร์จูน โฮเทล (Resort Hotel) เป็นโรงแรมขนาดกลาง-เล็ก ระดับ 3-4 ดาว ได้แก่ ฟอร์จูน เชียงของ ,ฟอร์จูนเริเวอร์วิว นครพนม,ฟอร์จูน วิวโขง นครพนม,ฟอร์จูน แสงจันทร์ บีช ระยอง และฟอร์จูน คอร์ทยาร์ด เขาใหญ่

3.ฟอร์จูน ดี หรือ ฟอร์จูน ดี พลัส (Lifestyle and Convenient Hotel) หรือ บัดเจท โฮเทล ระดับ 2-3 ดาว ได้แก่ ฟอร์จูน ดี เขาใหญ่,ฟอร์จูน ดี แม่สอด,ฟอร์จูน ดี เลย,ฟอร์จูน บุรีรัมย์ และฟอร์จูน พิษณุโลก

“แนวคิดการขยายธุรกิจโรงแรม เน้นจังหวัดเมืองท่องเที่ยว ด่านการค้าชายแดน แหล่งอุตสาหกรรมและมองภาพรวมที่เกิดจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มีรูปแบบท่องเที่ยวที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น บริษัทฯจึงหันมาโฟกัสลงทุนในโรงแรมที่เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้นทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว เพื่อหาประสบการณ์ แต่ก็ยังชอบเรื่องความง่าย ความสะดวกสบายและสะอาดเป็นสำคัญ” นายสุนทร กล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 โรงแรมในเครือฟอร์จูน มีอัตราการเข้าพักประมาณ 60-70%ต่อปี และมีรายได้ประมาณ 720 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1-19 พฤจิกายน 2564 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยไม่ถึง 10%  จากทั้งหมด 402 ห้องพัก

แต่ในช่วงวิกฤติพบว่าโรงแรมในเครือทั้ง 13 แห่งนั้น “โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช” มีลูกค้าเข้าพักมากที่สุดเกิน 50% เนื่องจากมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับขุดเจาะน้ำมันได้ใช้มาตรการป้องกันพนักงาน ด้วยการ Bubble and Seal เหมาห้องพักให้พนักงานจำนวน 180 ห้อง จากทั้งหมดกว่า 300 ห้อง โดยคิดอัตราการเข้าพักเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมเดือนตุลาคม 2564

“การเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ช่วยเสริมในเรื่องจุดแข็งของเรา นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำ Loyalty Program กับ ทรูมันนี่วอลเล็ท เพื่อสร้างฐานลูกค้าสมาชิกและกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเมื่อลูกค้าที่ใช้บริการเข้าพักโรงแรมในเครือฟอร์จูน สามารถนำมาแลกพอยท์ได้ ซึ่งจะเริ่มใช้รูปแบบนี้ในเดือนมกราคม 2565 นี้”นายสุนทร กล่าว

สำหรับธุรกิจอาคารสำนักงานที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการเช่าเกิน 90% และพื้นที่ต่างจังหวัด มีอัตราการเช่าเกิน 60% ซึ่งถือว่ายังได้รับการตอบรับที่ดี

อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2565 จะมีอัตราการเติบโตสูงกว่าปี 2564 ประมาณ 10-15%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*