นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เปิดเผยว่า ธปท. ได้ขยายความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ให้ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ที่มีหลักประกันประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงที่กว้างขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  ให้สามารถนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย โดยกำหนดห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่กำหไนดให้รวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น

ทั้งนี้หากสถาบันการเงินมีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม  ส่วนในกรณีที่รับโอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือรีไฟแนนซ์มาจากสถาบันการเงินอื่น สถาบันการเงินนั้นสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ได้

สำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ด้วย ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขายบวก 2% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยโดยทั่วไป

โดย ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันเงินสำรอง และการดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินที่ช่วยเหลือลูกหนี้ สำหรับการรวมหนี้ที่ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งคาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะทยอยเสนอผลิตภัณฑ์การรวมหนี้ได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้

สำหรับความคืบหน้าของมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนของแก้หนี้เดิมมีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วจำนวน 6.69 ล้านบัญชี รวมวงเงิน 3.82 ล้านล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 25,190 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 178 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม สปา และโรงงาน ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟู มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 126,881 ล้านบาท จำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 39,722 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย แบ่งเป็นธุรกิจ SME 43.3 ประกอบธุรกิจพาณิชย์และบริการ67% และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในต่างจังหวัด 67.8%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*