“ลุมพินี วิสดอม”ชี้ระบบ BIM ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI เป็นกระบวนการช่วยพัฒนาธุรกิจอสังหาฯในยุคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มอีก 4มิติทั้งด้านสุขอนามัย วิเคราะห์และออกแบบ การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้าง และลดปริมาณขยะ 

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom)  ในเครือบริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งงานออกแบบที่ต้องตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอสังหาฯหลายบริษัทจึงได้นำกระบวนการพัฒนางานออกแบบและก่อสร้างด้วย BIM (Building Information Modeling) มาใช้ในงานออกแบบและก่อสร้างมากขึ้น 

เนื่องจากระบบ BIM เป็นกระบวนการทำงานที่มีส่วนช่วยในงานออกแบบและก่อสร้างของภาคธุรกิจอสังหาฯ เพราะช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ควบคุมการบริหารต้นทุนและการพัฒนาคุณภาพของงานออกแบบได้

ปัจจุบัน BIM ได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์กับการพัฒนาธุรกิจอสังหาฯเพิ่มอีก 4 มิติ  คือ ความปลอดภัยและสุขอนามัย งานวิเคราะห์และออกแบบ การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้าง และลดปริมาณขยะจากกระบวนการทำงาน

 โดยเฉพาะในด้านการออกแบบสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ร่วมกับการทำงานบนระบบ BIM ทั้งในพื้นที่ก่อสร้างและสำนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงานและผลกระทบทางด้านสุขภาพ รวมถึงควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการทำงาน

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างสามารถนำระบบ BIM มาปรับใช้การทำงานให้เป็นรูปแบบกึ่งอัตโนมัติควบคู่กับคนงานก่อสร้าง นอกจากนี้ยังสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบความปลอดภัย เช่น เทคโนโลยี Sensor ตรวจจับอุณหภูมิ ค่าสุขภาพร่างกายและตรวจจับการเคลื่อนไหวของคนงานที่อยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ขณะเดียวกันหัวหน้างานสามารถตรวจสอบการทำงานได้แบบ Real-Time Monitoring  และแจ้งเตือนคนงานได้ทันที

อีกทั้งยังช่วยตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี VR ที่เป็นตัวช่วยสนับสนุนการทำงานของสถาปนิก วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ ให้สามารถประเมินปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่จริง


ในส่วนของสำนักงานสามารถปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ ด้วยการทำงานบนระบบ BIM  ซึ่งเป็นระบบแบบรวมศูนย์ข้อมูล ช่วยลดความผิดพลาดของข้อมูลและความซ้ำซ้อนของการทำงานลง โดยทำงานร่วมกันผ่าน Cloud Platform รวมทั้งยังช่วยรองรับแนวคิดการทำงานในรูปแบบ Work from Home หรือ Remote Working 
ได้ด้วย

ขณะเดียวกันระบบ BIM ได้มีการนำ AI (Artificial Intelligence)หรือปัญญาประดิษฐ์   เข้ามาใช้ในการรวบรวม เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ พร้อมกับจัดการหาวิธีแก้ปัญหาในการออกแบบ โดย AI เข้ามามีส่วนช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลดต้นทุน ลดเวลาและความเสี่ยง เช่น การใช้ Generative Design หรือ AI ช่วยออกแบบด้วยหลักอัลกอริทึมในการออกแบบโครงการที่มีDesign Criteria จำนวนมาก ทำให้ผู้ออกแบบสามารถระบุความต้องการ ข้อกำหนดของอาคาร กฎหมาย ทิศทางของแสงอาทิตย์ รวมถึงพื้นที่ใช้สอยต่าง ๆ ได้ โดยการนำข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบจากนั้น AI จะช่วยออกแบบอาคารตามข้อกำหนดที่ระบุไว้เป็น Design Option ได้หลากหลาย

 โดยเฉพาะการก่อสร้างในยุค COVID-19ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น มีความจำเป็นต้องลดปริมาณคนเข้าทำงานลงเพื่อลดความแออัด อีกทั้งการเข้าทำงานหน้างานมีการจำกัดเวลา แบ่งพื้นที่การเข้าถึง ทำให้การเก็บข้อมูลและส่งต่อข้อมูลระหว่างกันเกิดความคลาดเคลื่อนสูง การนำเทคโนโลยีระบบโดรนมาใช้ในการเก็บภาพถ่ายงานก่อสร้างผสานกับการใช้ BIM Model เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้าง จะช่วยลดปัญหาการบริหารจัดการงานก่อสร้าง และสามารถบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างได้มากกว่า 1 พื้นที่ก่อสร้าง

เพราะจากการศึกษาพบว่า วิธีเก็บข้อมูลหน้างานด้วยโดรนช่วยลดเวลาการเดินตรวจงานในพื้นที่ก่อสร้างได้ถึง 400 เท่าของเวลาทำงาน และช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บข้อมูลเดิมได้ถึง 40%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*