แอสเสท เวิรด์ คอร์ปฯเผยการท่องเที่ยวไทยไตรมาสสุดท้ายปี64 ส่งสัญญาณฟื้นตัว เชื่อมติครม.ดันเศรษฐีต่างชาติพำนักไทยระยะยาว ช่วยเสริมแกร่งประเทศ ตอบโจทย์บริษัทข้ามชาติ ลุ้นลมหายใจลดต้นคอส่อง Speed ของ Demand ผู้ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ประกาศเดินหน้าลงทุนโครงการอสังหาฯทุกรูปแบบ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ คาดอีก 5 ปีพอร์ตโพลิโอจะมีจำนวนรวม 50 แห่งในหลากหลายทำเล โดยเฉพาะ3 โปรเจกต์แลนด์มาร์ค ช่วยสร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย คาดจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในปี 65 ผลประกอบการพลิกมาเป็นบวก รายได้กลับไปแตะระดับไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
นางวัลลภา ไตรโสรัส
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเองที่เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อที่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น ทำให้เริ่มกลับมาเปิดประเทศและมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดีให้กับการฟื้นตัวของธุรกิจAWC ตั้งแต่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ จากการที่จะมีการท่องเที่ยวของคนในประเทศเข้ามาสนับสนุน ประกอบกับการมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐเข้ามาเสริม และแคมเปญโปรโมชั่นของบริษัทที่เข้ามาช่วยกระตุ้น ทำให้มองว่านักท่อเที่ยวในประเทศจะสามารถเข้ามาช่วยหนุนการฟื้นตัวของบริษัทได้ก่อนตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จากในช่วงปี 2563-2564 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกดดันต่อภาพรวมของธุรกิจของ AWC อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ถือเป็นสัดส่วนรายได้หลักที่มากที่สุดของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการที่ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงไปมาก จากการปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป

“จากมติครม. ที่มีแผนจะดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาว ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของประเทศ ก็จะยิ่งตอบโจทย์บริษัทข้ามชาติที่ต้องการมาเปิดบริษัทฯในประเทศไทย เชื่อว่าหลังโควิด จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชาวต่างชาติ” นางวัลลภา กล่าว

สำหรับแนวโน้มอัตราการเข้าพักของโรงแรมในพอร์ตของ AWC ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 20% ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 หลังจากที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา จากก่อนหน้าที่อัตราการเข้าพักของโรงแรมในพอร์ตของบริษัทมีอยู่เพียง 2-3% โดยมาจากกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาพักระยะยาว (Long stays) เป็นหลัก แต่บริษัทมองว่าอัตราการเข้าพักจะเริ่มเห็นการขยับขึ้นมาใช่ช่วงปลายปี 2564  ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของคนในประเทศ และยังมีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่โรงแรมของบริษัทเข้าร่วมโครงการมาหนุน รวมถึงโรงแรมในกรุงเทพฯบริษัทยังมีแคมเปญ “Bangkok Holiday” ที่เข้ามากระตุ้นการเข้าพักหรือเปลี่ยนบรรยากาศมาทำงานในโรงแรม เพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับโรงแรมมากขึ้น

ทั้งนี้ในปี 2565 จะมีปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยเข้ามามากขึ้น จากปัจจุบันที่ภาครัฐเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา รวมถึงการเปิดพื้นที่ในหัวเมืองท่องเที่ยวบางจังหวัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่มองว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากขึ้นที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย จะเริ่มเห็นในช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นไป เพราะปัจจุบันบางประเทศยังไม่ให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ และการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องการกักตัว และการใช้เอกสารที่ยุ่งยากในการเดินทาง ทำให้การตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยยังชะลออยู่บ้าง

“ในปี 2565 ก็ยังคงต้องลุ้นว่า Speed ของ Demand ผู้ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถ้ามา Speed กลับมาเร็วก็จะทำให้ ธุรกิจโรงแรมของAWC ฟื้นตัวได้เร็วตาม แต่มองว่าข้อจำกัดต่างๆอาจจะต้องลดลง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสะดวกมากขึ้น อย่างตอนนี้ก็ยังต้อง Quarantines และมีเอกสารในการเข้าเยอะ ก็มีข้อจำกัดพอสมควร แต่เรายังมองภาพบวกการท่องเที่ยวปีหน้าจะฟื้นตัว จากที่เห็นการท่องเที่ยวในต่างประเทศที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นก่อนประเทศไทย เขาก็ฟื้นกลับมาเร็ว” นางวัลลภา กล่าว

นางวัลลภา กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางธุรกิจของ AWC นับจากนี้ว่า ริษัทยังเดินหน้าลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบ รวมถึงโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูส ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed and Merged) ที่ไม่ได้มีการแยกโรงแรม ค้าปลีก หรือตึกสำนักงาน ออฟฟิศอย่างชัดเจน ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมดังกล่าว ที่ผ่านมาบริษัทจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน AWC Connext ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การใช้จ่ายและใช้ชีวิตไร้ขีดจำกัดผ่านโปรแกรม AWC Infinite Lifestyle ที่สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์การใช้บริการของอสังหาริมทรัพย์ทุกแห่งของ AWC ไว้เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของ AWC มีครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย โรงแรม 18 แห่ง, รีเทล 8 แห่ง, อาคารสำนักงาน 4 แห่ง, ค้าส่ง 2 แห่ง รวม 32 แห่ง และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 18 โครงการ ซึ่งจะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในพอร์ตโพลิโอ ของ AWC จะมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์รวม 50 แห่งในหลากหลายทำเลสำคัญของประเทศ 

นางวัลลภา กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า AWC ยังมีอีก 3 โปรเจกต์แลนด์มาร์ค ซึ่งจะสร้างปรากฏการณ์ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย คือ

1.โครงการ“ASIATIQUE THE RIVERFRONT DESTINATION” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กระดับไอคอน (Iconic Landmark)แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วย โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ, โรงแรมเจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ รวมถึง ริทซ์-คาร์ลตัน รีเซิร์ฟ แบรนเด็ด เรสซิเดนส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิส เรสซิเดนส์ โดยมีแผนเปิดให้บริการเริ่มจากเปิดโซนค้าปลีกและสำนักงานในปี 2567

2.โครงการ“AQUATIQUE DISTRICT PATTAYA” โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางเมืองพัทยา ประกอบด้วยแหล่งชอปปิ้ง แหล่งท่องเที่ยว โรงแรมหรู 5 แบรนด์ และแบรนเด็ด เรสซิเดนส์อีก 2 แบรนด์ และพื้นที่ค้าปลีก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับ Wellness ซึ่งตอบโจทย์การส่งเสริมให้พัทยาเป็นจุดหมายปลายทางของชายหาดยอดนิยม (Beachfront destination) ระดับโลก

3.โครงการ“เวิ้งนครเขษม” ซึ่งพัฒนาให้เป็นโครงการพิเศษแบบ Mixed Development ทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย และค้าปลีก ด้วยการลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท โดยดึงเสน่ห์และอนุรักษ์ความเป็นไชน่า ทาวน์ ให้นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับร้านค้าปลีกใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เส้นทางมรดก มรดกทางประวัติศาสตร์ และถนนแห่งความบันเทิง พร้อมตอบโจทย์การสร้างจุดหมายปลายทางแห่งความภาคภูมิให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

และในโอกาสครบรอบ 2 ปี ในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่บริษัทเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “AWC” ซึ่งถือเป็น  Flagship สำคัญของ ทีซีซี กรุ๊ป ด้วยขนาด IPO ที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งยังเป็น IPO ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปี

ที่สำคัญยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่บริษัทได้รวมโครงการคุณภาพทั้งหมดที่มีนำมาวางกลยุทธ์สมดุลย์ในการจัดพอร์ทโฟลิโอ ซึ่งมีทรัพย์สินในหลายเซกเตอร์ และกลยุทธ์ที่จะเติบโตได้อย่างมั่นคง ทำให้ AWC ก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและรวมพลังผู้บริหาร พนักงาน ขับเคลื่อนองค์กรรักษาความแข็งแกร่งให้พร้อมเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ  AWC ยังคงเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระยะยาวและเตรียมกลยุทธ์การเป็น OMNI-Integrated Lifestyle Real Estate ที่รวมความหลากหลายของประเภทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และสร้างคุณค่ารูปแบบใหม่ที่มุ่งตอบโจทย์และเสริมรูปแบบการใช้ชีวิตไร้ขีดจำกัด

นางวัลลภา กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านผลิตภัณฑ์และบริการของธุรกิจในเครือให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่แบบ New Normal ซึ่งเป็นการต่อยอดกลยุทธ์ “Building a Better Future” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนองค์กรจากภายในสู่คุณค่าองค์รวมให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน  ทำ ให้เกิดความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน ชุมชน สังคมองค์รวม และประเทศไทย

ทั้งนี้ สิ่งที่ตอกย้ำถึงความสำเร็จใน 2 ส่วนในวันครบรอบ 2 ปีของ AWC ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่เป็นพลังใจให้พวกเราชาว AWC ร่วมมุ่งมั่นในการพัฒนาสร้างคุณค่า โดยในสัปดาห์นี้บริษัทได้รับการรับรองให้เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ประจำปี 2564 และได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้น THSI (Thailand Sustainability Investment) จากทั้งหมด 146 รายชื่อในปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัทได้ตอบแบบประเมิน

โดยเฉพาะในปี 2564 นี้ มีการพิจารณาถึงการมีแนวทางบริหารจัดการภาวะวิกฤติที่ครอบคลุมถึงการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด พิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) เพื่อปรับตัวและตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต รวมทั้งมีความตั้งใจในการตอบแทนคุณค่าในระยะยาวและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลทำให้ AWC จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นับเป็นการส่งเสริมความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social and Governance)

นางวัลลภา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AWC เป็นกลไกในองค์รวมของการขับเคลื่อนธุรกิจในทุกกระบวนการ ประกอบด้วย Better People การพัฒนาบุคคลากรของค์กรรวมไปถึงการสร้างโมเดลกิจการวิสาหกิจ เพื่อสังคมที่สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชน, Better Planet การพัฒนาและดำเนินงานเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของโลกได้อย่างยั่งยืน และ Better Prosperity การสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับเศรษฐกิจองค์รวม ทั้งนี้ บริษัทมีกลยุทธ์ชัดเจนในการดึงพันธมิตรระดับโลกมาร่วมสร้างธุรกิจ เพื่อยกระดับความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวม โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพื่อสร้างให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกในอนาคต

อย่างไรก็ตามบริษัทฯคาดว่าแนวโน้มของผลการดำเนินงานในปี 2565 จะเห็นการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานพลิกกลับมาเป็นบวกได้  โดยจะมีสัดส่วนรายได้กลับไปแตะในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*