หลังจากมีการลงนามในสัญญาระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จํากัด และพันธมิตร)หรือ EHSR ไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเป็นผู้ดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  และเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จํากัด พร้อมกับเริ่มเดินหน้าการก่อสร้างโครงการ ช่วงสายกรุงเทพ-ระยอง (HSR)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้แจ้งว่า การเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่จากบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เป็น บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ถือเป็นการตอกย้ำความพร้อมเพื่อเดินหน้าพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นการพัฒนายกระดับการคมนาคมในประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาคเอเชียและของโลกด้วยมาตรฐานการเดินรถและให้บริการในระดับสากล ภายใต้แนวคิด Reimagining Horizons

ทั้งนี้จากรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ฉบับที่ 1/2564 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 ในบทสรุปผู้บริหาร ได้ระบุว่า รูปแบบของรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงสร้างยกระดับและอุโมงค์เดี่ยวรางคู่ รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร แนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ได้แก่

– โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (ARL)

– โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมทาาอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง (ARLEX)

– โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง (HSR)

การดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง (HSR) ตามแผนการดำเนินงานในเดือนเมษายน 2564 เป็นช่วงก่อนเริ่มการก่อสร้าง (Baseline) เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นระยะเตรียมการก่อสร้าง (Early Work) และเดือนตุลาคม โครงการจะเริ่มเข้าสู่ระยะก่อสร้างตามแผน  โดยมีบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง และบริษัท PMSC เป็นที่ปรึกษาบริหาร ควบคุมงานก่อสร้างและตรวจสอบการทํางานของผู้รับจ้างก่อสร้าง

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเภทระบบขนส่งมวลชนทางราง ภายใต้โครงการนำร่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งอยู่ในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

จำนวนสถานี: ทั้งหมด 9 สถานี คือ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิสถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรีสถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

รูปแบบของรถไฟความเร็วสูง: เป็นโครงสร้างยกระดับและอุโมงค์เดี่ยวรางคู่

ระยะทาง:ประมาณ 220 กิโลเมตร

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*