สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจับมือการเคหะแห่งชาติ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City” นำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง      และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ตามที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบหมายให้ดีป้าเร่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองตามแผนผังภูมินิเวศให้เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่ สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นที่อยู่อาศัย ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่นั้น

ล่าสุดดีป้าได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับการเคหะแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City โดยจะมีการบูรณาการการทำงานใน 2 โครงการ คือ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชุมชนการเคหะฯ

ปัจจุบันดีป้าได้ทำการประกาศและเตรียมมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยให้แก่ 5 เมืองนำร่อง ประกอบด้วย ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ สามย่านสมาร์ทซิตี้ และเมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์

ด้านนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมดิจิทัลได้เข้ามามีส่วนสำคัญกับผู้คนในพื้นที่ของการเคหะฯ ดังนั้นการพัฒนาจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งสังคมเข้มแข็งและก้าวทันเทคโนโลยี พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและการพักอาศัยของประชาชน  ในระยะเริ่มต้นการเคหะฯพร้อมดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ในพื้นที่ Super Block เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะได้หน่วยพักอาศัยใหม่ทั้งสิ้น 20,292 ยูนิต สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมได้ 5,846 ยูนิต และครอบครัวขยายอีก 700 ยูนิต รวมทั้งหมด 6,546 ยูนิต รองรับประชากรได้ประมาณ 30,000 คน และยังสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ได้อีก 13,746 ยูนิต หรือมีประชากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30,000 คน รวมประชากรที่ได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งสิ้น 20,292 ยูนิต หรือประมาณ 60,000 คน รวมถึงพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21 ไร่

ส่วนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง พื้นที่ 183 ไร่ ประกอบด้วยอาคารพักอาศัย 5 ชั้น รวม 38 อาคาร อาคารพาณิชย์ ตลาดสดห้วยขวาง ร้านค้าบริเวณอาคารแฟลต พื้นที่ว่าง สนามกีฬาและส่วนนันทนาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการ อาทิ โรงเรียน อาคารสำนักงานภาครัฐ บริการสาธารณะในพื้นที่ และชมรมต่าง ๆ จะพร้อมดำเนินการก่อสร้างในปี 2570 เป็นต้นไป โดยทั้งสองโครงการจะนำร่องพัฒนายกระดับให้เป็นชุมชนอัจฉริยะ Smart City เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*