กลายเป็นประเด็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ในโลกโซเชียลช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาสำหรับโครงการแอชตัน อโศก ของบมจ.อนันดาฯ ดีเวลลอปเม้นท์  หลังจากศาลที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น “เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกหนังสือ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” 

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จึงนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจลงในเว็บไซต์ https://asa.or.th เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิก สมาชิกและผู้สนใจ ได้ใช้เป็นกรณีศึกษา โดยได้คัดกรองประเด็นที่น่าสนใจในคดีนี้ที่หลาย ๆ สื่อมิได้นำเสนอข้อเท็จจริงนำมาเผยแพร่ ดังนี้

ข้อ1.คดีนี้มีประเด็นที่ถูกฟ้อง 5 เรื่อง แต่มีประเด็นเดียวเท่านั้นที่ศาลพิพากษาว่าเป็นความผิด คือ “การออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ฯ เป็นการกระทำที่มิชอบ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำที่ดินบางส่วนของ รฟม. มาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคาร เพื่อที่จะทำให้อาคารดังกล่าวมีด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะทีมีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร  เพราะที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของผู้ประกอบการ และไม่ใช่ทาสาธารณประโยชน์ การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. จึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน

ข้อ 2.ในคดีนี้ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การมีสาระสำคัญว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ของ กทม.ได้พิจารณาแบบที่ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตมาแล้วพบเห็นว่า “แบบที่ยื่น ไม่มีส่วนใดขัดประกาศ ข้อบัญญัติ กฎกระทรวง พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือกฎหมายอื่นของ กทม.” เพราะว่า

ข้อ 3. ก่อนการแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ประกอบการได้มีหนังสือหารือไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีหนังสือตอบข้อหารือของผู้ประกอบการว่า

“หากที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ แม้จะมิได้อยู่ติดถนนสาธารณะ หากมีที่ดินแปลงอื่นที่สามารถใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษนั้นได้ตลอดตราบที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษตั้งอยู่ และสามารถใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้สะดวก ก็จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33”

ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการนำที่ดินบางส่วนของ รฟม. มาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร เพื่อที่จะทำให้อาคารดังกล่าวมีด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะกว่างไม่น้อยกว่า 18 เมตร กทม.จึงเห็นว่าถูกต้องตามกฎกระทรวงแล้ว

ข้อ 4. ในกรณีเช่นเดียวกันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายไว้ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ร้องขอ ในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ประกอบการรายหนึ่งว่าถูกต้องตามกฎกระทรวงกำหนด

ทั้งหมดของคำพิพากษานี้เป็นคำพิพากษาที่สั่งให้ กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพิกถอนการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารนี้

แต่อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังคงต้องมีการอุทธรณ์ในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป และเนื่องจากคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด อาคารหลังนี้ก็ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติต่อไป .หรือแม้กระทั่งคดีถึงที่สุดแล้วก็ใช่ว่าจะสามารถทำการรื้อถอนได้ง่าย ๆ จะเห็นได้จาก case study ในหลายๆโครงการ

แม้ว่าประเทศไทยจะใช้กฎหมายที่ยึดถือตัวบทเป็นหลัก แต่จากกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเจตนารมณ์ กับ ตัวบทกฎหมาย อันไหนที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่ากัน

หากผู้ปฏิบัติมีข้อสงสัยตามกฎหมายควบคุมอาคารขึ้นมาอีก ผู้ปฏิบัติควรที่จะหารือหน่วยงานไหนดี และที่สำคัญที่สุด กรณีเช่นนี้คงไม่ได้มีเพียงที่เดียวทั้งในอดีตและอนาคต

ดังนั้นข้อดีที่เกิดจากเหตุการณ์นี้ คงเป็นประเด็นให้เกิดการพัฒนากฎหมายไปสู่ความชัดเจนให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎ สถาปนิก และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพัฒนาของประเทศในภาพรวม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*