นายชานนท์ เรืองกฤตยา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือ ANAN เปิดเผยว่า หลังจากศาลปกครองกลางได้มีพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ  “แอชตัน อโศก” (ASHTON อโศก)ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของลูกบ้าน “แอชตัน อโศก” รวมถึงกลุ่มผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับลูกบ้าน เพราะลูกค้าที่ผ่อนกู้กับสถาบันการเงินมีความกังวลว่าจะผ่อนค่างวดต่อหรือหยุดการผ่อนค่างวดไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน  ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ารับโอนห้องชุดไปแล้ว 87% จำนวน 666 ยูนิต รวม 578 ครอบครัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นคนไทย 438 ครอบครัว และต่างชาติ 180 ครอบครัวจาก20ประเทศ

คลิกอ่าน >>ลุ้นชะตากรรมลูกบ้าน“แอชตัน อโศก”หลังศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง

ล่าสุดบริษัทได้ชี้แจงกับลูกบ้านทั้งคนไทยและต่างชาติไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเชื่อมั่นในการดำเนินงานของบริษัทที่ได้ทำตามทุกขั้นตอนของกฎหมายและพร้อมที่จะต่อสู่คดีเพื่อได้รับความยุติธรรรม

เบื้องต้นบริษัทและทีมกฎหมายอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเวลา 30 วัน เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกบ้านและชื่อเสียงของบริษัทฯ ซึ่งคาดว่าระยะเวลาในการพิจารณาตามกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดอาจจะต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการแอชตัน อโศก ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่เกิดปัญหาระหว่างภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้จัดการบ้านกับลูกค้า ที่เป็นผู้อยู่อาศัย ขณะที่ตัวบทกฎหมายมีความซับซ้อนทำให้ยากต่อการตีความ โดยก่อนที่จะเริ่มลงมือก่อสร้าง ทางโครงการได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของภาครัฐถึง 8 หน่วยงาน อาทิ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสำนักงานเขตวัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับใบอนุญาตถึง9ฉบับ ทั้งใบอนุญาตใช้ทางของฟม. ใบอนุญาตเชื่อมทางสาธารณะ และหนังสือเห็นชอบจากรายงาน EIA “

โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องทางเข้า-ออกของโครงการ ที่ศาลปกครองกลางระบุว่าโครงการ “แอชตัน อโศก” ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของแปลงที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันไปจนไปเชื่อมกับถนนสาธารณะ

นายชานนท์ ชี้แจงว่า เดิมที่ดินแปลงนี้มีทางเข้าออกกว้าง 6.40 เมตร ตามข้อร้องเรียนของเจ้าของที่ดินเดิม ที่ถูก รฟม.เวนคืนที่ดินแปลงที่ติดกับถนนอโศกมนตรี ทำให้ไม่มีทางเข้า-ออกแปลงที่ดินด้านใน ต่อมาศาลมีคำสั่งให้รฟม.เปิดทางเข้า-ออกให้กับเจ้าของที่ดินกว้าง 6.40 เมตรติดกับสถานี MRT สุขุมวิท และเมื่ออนันดาฯได้มาซื้อที่ดินแปลงด้านในจากเจ้าของที่ดินเดิม และซื้อเพิ่มอีก 2 แปลงจากเจ้าของที่ดินแปลงที่อยู่ติดกัน จึงได้ไปเจรจากับรฟม.เพื่อขอเปิดทางเข้า-ออกเพิ่มอีก 6.60 เมตร รวมเป็นกว้าง 13เมตร

โดยได้รับการอนุมัติจากบอร์ดรฟม.เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ภายใต้เงื่อนไขว่าอนันดาฯต้องสร้างอาคารที่จอดรถสาธารณะขนาด 9 ชั้นให้กับรฟม.แทนในวงเงินกว่า 97 ล้านบาท หลังจากนั้นอนันดาฯจึงได้ดำเนินการเพื่อยื่นขอ EIA และได้รับการอนุมัติความเห็นชอบจาก EIA เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 จนสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการจนแล้วเสร็จและเตรียมโอนให้กับลูกค้าในช่วงปี 2561

แต่ไม่สามารถโอนห้องชุดให้กับลูกค้าได้เพราะเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร(แบบ อ.6 ) ให้กับโครงการ จนบริษัทฯต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานและได้รับการอนุมัติให้จดทะเบียนอาคารชุดและจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดได้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 และเริ่มโอนห้องชุดได้ในวันที่ 15 มิถุนายน 2561

ดังนั้นหากคดีสิ้นสุดและสรุปว่าโครงการ “แอชตัน อโศก” ผิดจริง ก็คงต้องมีโครงการในกรุงเทพฯ ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการขอผ่านทางเช่นกันเดียวกับแอชตัน อโศก โดยเฉพาะคอนโดฯที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าที่มีถึง 13 โครงการ และในจำนวนนี้อยู่ติดสถานีMRT ถึง 6 โครงการ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐได้มีแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่เรียก่า TOD หรือ Transit Oriented Development โดยออกแบบพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าให้ผสมผสานกันระหว่างพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า แหล่งงาน  ที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้เข้าสู่ระบบขนส่งมวลมากขึ้น

“ผมอยากให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจของภาครัฐหันหน้ามาคุยกับเรา เพราะเรื่องนี้ส่งผลระทบในวงกว้างทั้งต่อลูกบ้านของอนันดาฯและอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย เนื่องจากกฎหมายของเรามีความซับซ้อน แต่บริษัทก็มีหลักฐานและเอกสารทุกอย่างตามกฎหมาย ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือหาทางออก ในฐานะที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน และไม่อยากให้เรื่องนี้กลายมาเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับธุรกิจอสังหาฯ เพราะไม่ใช่แอชตัน อโศก เพียงโครงการเดียวเท่านั้นที่ใช้ทางเข้าออกร่วมกับสถานีรถไฟฟ้า แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ทำแบบนี้ก็จะพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย”

สำหรับนักลงทุนนั้นบริษัทฯได้เริ่มมีการแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทราบรายละเอียดแล้ว และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่อตัวของบริษัทเองที่ดำเนินการตามถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ โดยที่ในส่วนของผลกระทบดังกล่าวจะกระทบต่อการออกหุ้นกู้ชุดล่าสุดของบริษัท 2 ชุด ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2564 วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเลื่อนการเสนอขายออกไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้บริษัททำความเข้าใจกับนักลงทุนที่สนใจซื้อหุ้นกู้ของบริษัท เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวของบริษัทฯให้แก่นักลงทุนเชื่อถือและมองเห็นโอกาสในการลงทุนอยู่

ส่วนพันธมิตรญี่ปุ่นที่ร่วมกันพัฒนาโครงการ “แอชตัน อโศก” และอีกหลายๆโครงการร่วมกับบริษัท คือ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ได้มีการสอบถามเข้ามากับทางบริษัทในประเด็นดังกล่าวแล้ว และบริษัทได้มีการชี้แจงตอบข้อสงสัยต่างๆให้ทางพันธมิตรญี่ปุนได้ทราบ ซึ่งทางพันธมิตรญี่ปุ่นก็ได้เข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ยังมีความไม่เข้าใจในข้อกฎหมายของประเทศไทยอยู่บ้างเล็กน้อย เนื่องจากกฎฑหมายในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ซึ่งพันธมิตรญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างของบริษัทที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง

 

อนึ่ง โครงการ “แอชตัน อโศก” เป็นโครงการร่วมทุนที่อนันดาฯ และพันธมิตรญี่ปุ่น บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาในการถือหุ้นสัดส่วน 51 : 49 มูลค่าโครงการประมาณ 6,410 ล้านบาท และได้ส่งมอบห้องชุดพักอาศัยให้ลูกบ้านไปแล้ว 87% มูลค่า 5.63 พันล้านบาท เหลือขายอีก 13%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*