จากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบขั้นตอนการดำเนินงานการจ่ายเงินเยียวยา กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ใน 10 จังหวัด ตามมาตรการ 33,39 และ 40  ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และ เพิ่มอีก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะต้องอยู่ใน 9 หมวดกิจกรรม หรือ 9 กลุ่มอาชีพ ได้แก่
1.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
2.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 
3.การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์
4.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
5.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ
6.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
7.การก่อสร้าง
8.กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ
9.ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังขาใจว่าในจำนวน 9 กลุ่มอาชีพที่ได้รับการเยียวยานั้น กลับไม่มีกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทรับเหมาฯในการก่อสร้างโครงการต่างๆ โดยมาตรการสั่งปิดแคมป์และไซต์งานก่อสร้าง เป็นระยะเวลา 30 วัน ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯนั้นได้รับผลกระทบอย่างเต็มๆ เพราะทำให้งานก่อสร้างโครงการล่าช้าไปจากเดิม ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายยังต้องแบกเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการปรับแผนรับมือ เพื่อรักษากระแสเงินสดไว้ให้ได้มากและนานที่สุด
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
วอนภาครัฐเยียวยาคลอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
โดย prop2morrow ได้สัมภาษณ์ ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย รู้สึกแปลกใจเช่นกันที่บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯและพนักงานบริษัทฯไม่ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ ทั้งๆที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้าง ที่ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างให้ดำเนินการ แต่จากมาตรการล็อกดาวน์ไซต์งานก่อสร้าง และแคมป์คนงาน ทำให้งานก่อสร้างไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ซึ่งทำให้งานก่อสร้างล่าช้าออกไป การโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด ลูกค้าอาจหาเรื่องไม่โอนกรรมสิทธิ์ ขอยกเลิกคืนเงินและดอกเบี้ย โดยอ้างว่างานก่อสร้างล่าช้า ซึ่งกรณีดังกล่าวประสบปัญหามาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมาแล้ว  และจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปลายปี 2564-2565 อย่างแน่นอน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด ในขณะที่ภาระรายจ่ายคงเดิม  ซึ่งภาครัฐอาจมองว่าผู้ประกอบการอสังหาฯไม่ได้รับผลกระทบ แต่ความจริงกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะยอดขายที่หายไปอย่างมาก

“อยากให้ภาครัฐเยียวยาครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งธุรกิจอสังหาฯเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม นับเป็นแสนล้านบาทต่อปี และไม่นับถึง Vat ที่เสียให้กับบริษัทวัสดุก่อสร้างทั้งหลาย  ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับการบาดเจ็บกันอย่างถ้วนหน้า แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา ก็อยากให้รัฐช่วยพิจารณาด้วย”

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

ธุรกิจอสังหาฯยังมืดมนระยะยาว หากโควิด-19 ไม่คลี่คลาย

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อปีมีมูลค่าประมาณ  400,000-500,000 ล้านบาท ภาครัฐจะเยียวยาได้อย่างไร ซึ่งก็คงต้องรอไป  โดยการสั่งล็อกดาวน์ หากธุรกิจไหนแข็งแรงก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน แต่ทั้งนี้อยากภาครัฐเร่งเปิดแคมป์ก่อสร้างให้เร็วที่สุดมากกว่า เพราะผู้ประกอบการต้องรีบโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าทันตามกำหนด แต่เชื่อว่าอาจจะต้องมีการยืดระยะเวลาในการปิดไซต์งานและแคมป์คนงานออกไปอีกอย่างแน่นอน เพราะช่วงที่สั่งปิดแคมป์งาน ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในระดับหลักพัน แต่ ณ วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไปที่หลักหมื่นแล้ว แต่ก็ยังมีผู้รับเหมาก่อสร้างบางรายแอบดำเนินก่อสร้าง ก็ยิ่งทำให้ยอดการติดเชื้อของแรงงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

“จังหวัดที่ไม่โดนล็อกดาวน์ก็สามารถดำเนินการก่อสร้างไปได้เรื่อยๆ เพราะแนวราบดีมานด์ยังมีสูง ส่วนจังหวัดที่ล็อกดาวน์นั้นยอดขายนิ่งไปเลย แบงก์ก็เข้มงวด เงินที่รัฐให้ดอกเบี้ยต่ำก็เยียวยาไม่ได้ แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ และโครงการที่มีความเสี่ยง ส่วนผู้ประกอบการรายเก่าที่พอไปได้ก็ปล่อยสินเชื่อให้ แต่มีเงื่อนไขคือให้เพิ่มประกันชีวิตไปด้วย ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯยังมืดมนระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่โควิด-19 ว่าจะสามารถคลี่คลายลงได้เมื่อไหร่”

นายวสันต์ เคียงศิริ

แนะเร่งเปิดแคมป์ไซต์งานก่อสร้างลดความเสียหาย

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ ผู้ประกอบการอสังหาฯก็ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด แต่ก็อยากให้ภาครัฐควรจะเหลียวแลธุรกิจอสังหาฯบ้าง ซึ่งเข้าใจว่าภาครัฐก็พยายามช่วยเหลือทุกภาคส่วน ดังนั้นเชื่อว่าตอนนี้เรียกร้องไปก็ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมาหลายธุรกิจได้รับความเดือดร้อนเพราะต้องปิดกิจการไป และถึงปลายเดือนกรกฎาคม นี้ ก็จะครบ 90 วันแล้ว หากเดือนสิงหาคม ยังต้องปิดต่อไปอีก ประชาชนจะต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน ซึ่งได้มีการสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคมแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ และยังไม่มีใครพูดถึงว่าหลายธุรกิจจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

“สมาชิกสมาคมฯก็มีการพูดในทิศทางเดียวกันเหมือนกัน ว่าทำไมภาครัฐถึงไม่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจอสังหาฯ แต่ที่อยากให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนมากที่สุดคือให้เปิดไซต์งานก่อสร้างและแคมป์คนงาน ให้เร็วที่สุดดีกว่า เพื่อลดความเสียหาย ส่วนคนที่ติดเชื้อก็ควรแยกก็ออก เพื่อลดความเสียหาย  หรือสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็ค่อยออกมาตรการอื่นๆมาช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯให้ฟื้นตัว”

ถือเป็นเสียงสะท้อนของทั้ง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาครัฐกลับมองข้ามไม่มีการเยียวยาทั้งผู้ประกอบการเจ้าของโครงการและพนักงานบริษัทฯ

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*