ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ส่งหนังสือถึงผู้ว่ากทม.ระบุนายกฯอนุมัติในหลักการให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ที่อาจจะส่งผลกระทบให้ความเสียหายเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรม หรือโครงการก่อสร้างบางประเภทที่มีความจำเป็นอันสมควรได้รับการยกเว้น ,การเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง โดยมอบหมายผู้ว่ากทม.ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต ภายใต้มาตรการ ควบคุมตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ด้านการก่อสร้างขนาดเล็กหากไม่เป็นตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ให้สั่งปิดได้ทันที มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป
 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นายสรพงศ์ ศรียานงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในหัวข้อเรื่อง อนุมัติในหลักการการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรการ 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ และสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงานก่อสร้าง รวมทั้งห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน นั้น

บัดนี้ นายกรัฐมนตรี โดยข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ได้อนุมัติในหลักการให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ซึ่งการหยุดก่อสร้างชั่วคราวอาจจะส่งผลกระทบให้ความเสียหายเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรม หรือโครงการก่อสร้างบางประเภทที่มีความจำเป็นอันสมควรได้รับการยกเว้น และการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประโยชน์ด้านสาธารณสุข ดังนี้

1.การอนุญาตก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท

(1) โครงการก่อสร้าง ซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันทีหรือการดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม หรือการก่อสร้างอื่นๆ

(2) การก่อสร้างชั่วคราว ซึ่งการหยุดก่อสร้างในทันทีหรือดำเนินการล่าช้า จะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น นั่งร้าน หรือแบบรอการเทปูนโดยเฉพาะแผ่นพื้น

(3) การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องการจราจร หรือแผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร

(4) การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค

2.การอนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง อนุมัติผ่อนคลายคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีข้ามเขตจังหวัดหรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัย หรือการฉีดวัคซีน

3.การมอบอำนาจกรุงเทพมหานคร/จังหวัดในเขตปริมณฑล ให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 โครงการก่อสร้างประเภทตาม (1)-(4) เป็นรายกรณี

4.การกำกับและติดตาม ให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล กำกับและติดตามการดำเนินการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างที่มีเหตุจำเป็นที่ได้รับการผ่อนคลาย ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด

5.การปิดการก่อสร้างขนาดเล็ก กรณีการก่อสร้างขนาดเล็กซึ่งไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) หากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเห็นว่า หากปล่อยให้การก่อสร้างดังกล่าวดำเนินต่อไป อาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง อันจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของข้อกำหนด(ฉบับที่ 25) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างนั้นตามหน้าที่และอำนาจในข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564

6.การสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ซึ่งไม่ห้ามการก่อสร้างโครงการขนาดเล็ก และไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรค และให้จัดให้มีช่องทางสำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการในการสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่ออกตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ด้วย

7.วันที่มีผลใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*