สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน  ยื่นหนังสือถึงพลเอกณัฐพล  นาคพาณิชย์  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เพื่อขอทราบความชัดเจนในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่มิใช่โครงการจัดสรรให้สามารถดำเนินการสร้างต่อได้  เบื้องได้ผลสรุปมา 4 ข้อหลัก แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของกทม.และคณะกรรมการในจังหวัดนั้นๆ
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า จากการพิจารณาตามราชกิจจานุเบกษาออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๕)ดังกล่าวมิได้มีเป้าประสงค์เพื่อมีคำสั่งให้ปิดสถานที่ก่อสร้างประเภทอาคารบ้านพักอาศัยที่มิได้เป็นโครงการจัดสรร ซึ่งหมายถึงบ้านพักอาศัยของประชาชนทั่วไปที่สร้างบ้านที่ดินของตนเอง เนื่องจากมิได้เป็นโครงการขนาดใหญ่หรืออาคารสาธารณะที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากและมิได้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปในวงกว้าง

นับตั้งแต่ราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ยังมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนและตีความไม่ตรงกันทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ , เจ้าพนักงานท้องถิ่น รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ทำให้เกิดข้อโต้แย้งที่ยังไม่มีข้อสรุป” นายวรวุฒิ กล่าว

ดังนั้น สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านบนที่ดินของประชาชน ที่ปัจจุบันมีงานก่อสร้างบ้านพักอาศัยสร้างเองกระจายอยู่ทั่วในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นจำนวนหลายพันหลังต่อปี    ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัยขนาดเล็ก    มีแรงงานก่อสร้างเป็นหลักสิบคน    ซึ่งไม่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ ของผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้ อีกทั้งสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีมาตรการในการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี   ซึ่งจากที่ผ่านมาพบว่าไซต์งานก่อสร้างของสมาชิกสมาคมฯ  ยังไม่มีที่ใดติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายของวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ออกเลขรับให้ผู้ร้องเรียบร้อยแล้ว และเตรียมส่งสำเนาเรื่องไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ((สปน.) เพื่อเรียนพลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. เป็นลำดับถัดไป โดยหนังสือนำเรียนและตอบผู้อย่างเป็นทางการ สรุปเนื้อความได้ดังนี้

1.ไซด์งานและแคมป์คนงานที่ถูกปิดคือไซด์งานขนาดใหญ่ที่ได้มีการลงทะเบียนกับกรุงเทพมหานครไว้

2.การก่อสร้างต่อเติมบ้านพักอาศัยยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ  แต่ไซด์งานแต่ละไซด์ต้องดำเนินการยื่นเรื่องขอทำการก่อสร้างกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ถูกต้องก่อนโดยยื่นแนวทางปฏิบัติในการป้องการการแพร่ระบาดของโรค สำหรับไซด์งานและแคมป์คนงานจนเป็นที่พอใจโดยอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการในจังหวัดนั้นๆ สำหรับกรุงเทพมหานครดูแลโดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เมื่อได้รับเอกสารแล้วจึงดำเนินการก่อสร้างได้

3.การเคลื่อนย้ายคนงาน หรือการเดินทางของคนงานไม่สามารถทำได้ทุกกรณี ดังนั้นแรงงานต้องพักอาศัยในไซด์งานเท่านั้นและต้องปิดไซด์ให้คนงานทำงานและพักอยู่แต่ในไซด์ และปฎิบัติตามมาตรการที่ได้ขออนุญาตไว้

4.ศบค.เป็นผู้กำหนดแนวทางแต่ผู้นำไปปฏิบัติคือจังหวัดนั้นๆ ซึ่งอาจออกมาตรการเพิ่มเติมได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าที่ศบค.ประกาศ

อนึ่ง ตามที่มีราชกิจจานุเบกษา ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๕) ข้อ ๒.การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและพบการระบาดแบบเป็นกลุ่มก้อน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร หรือพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างหรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารที่อยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือโครงการจัดสรรทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และให้มีคำสั่งปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสามสิบวัน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*