การระบาดของโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปลายกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว 2563 มาจนถึงระลอกที่2 เมื่อกลางธันวาคม 2563 และระลอกที่ 3 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้กระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดรอบแรก จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยทะลุหลักแสนคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเกือบ1พันคน

และที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ คือ การระบาดแบบกลุ่มก้อนหรือ “คลัสเตอร์” ทั้งสนามมวย ผับบาร์ ตลาดสด มาจนถึงชุมชนแออัด และล่าสุดกระจายเข้าสู่ “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ซึ่งปัจจุบันทั่วพื้นที่กรุงเทพฯมีแคมป์ก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 400 แคมป์ มีจำนวนแรงงานกว่า 60,000 คน โดยเฉพาะแคมป์คนงานหลักสี่ ที่พบแรงงานก่อสร้างติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดียด้วย

ทำให้แคมป์คนงานก่อสร้างถูกควบคุมพื้นที่ด้วยมาตรการ  Bubble and Seal (การจำกัดการเคลื่อนย้าย) โดยคนงานและผู้เกี่ยวข้องให้อยู่ภายในแคมป์ก่อสร้างเพียงเท่านั้น ห้ามเคลื่อนย้ายออกไปสู่ภายนอก และมีการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานอยู่ในธุรกิจก่อสร้างกว่า 20% ของจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งหมด โดยข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564 มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในกิจการก่อสร้างทั่วประเทศประมาณ 346,847 คน  ขณะที่จำนวนแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 สะสมในประเทศไทยจำนวน 20,825 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564) ในจำนวนนี้เป็นแรงงานชาวพม่ามากที่สุดประมาณ 19,055 คน โดยโจทย์ใหญ่ของการแพร่ระบาดของแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้อยู่ที่กลุ่มแรงงานต่างด้าวในกรุงเทพและปริมณฑล

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 ของแรงงานต่างด้าว คือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนงาน รวมถึงแรงงานไม่มีเอกสารแสดงตัวที่ถูกต้องหรือหลุดจากระบบการจ้างงาน ทำให้เอกสารถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนนายจ้างไม่ทันภายใน 30 วัน และหนังสือเดินทางหมดอายุ

กทม.จัดระเบียบการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง
ล่าสุดกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง และสถานประกอบการ Call Center  โดยห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็น

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างแคมป์คนงานก่อสร้าง จัดที่นั่งรับประทานอาหารในแคมป์หรือสถานที่ก่อสร้างให้มีระยะห่างระหว่างบุคลคล 1-2 เมตร จัดพื้นที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือจุดบริการแอลกอฮอล์สำรับคนงานทั้งในไซส์งานก่อสร้างและแคมป์คนงาน

รวมทั้งจัดยานพาหนะสำหรับแรงงานให้เหมาะสมกับจำนวนแรงงานก่อสร้าง โดยไม่ให้จัดที่นั่งหันหน้าเข้าหากันและเว้นระยะนั่งห่างกันอย่างน้อย 0.5 เมตร บันทึกหรือจัดข้อมูลจำนวนแรงงานที่ต้องมีการเดินทางหรือเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเป็นประจำทุกวัน

แคมป์คนงานติดโควิด ส่อแววกระทบงานก่อสร้างภาครัฐเอกชน
คลัสเตอร์แคมป์คนงานในพื้นที่หลักสี่ของบริษัทอิตาเลียน ไทย  เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนผู้เชื้อโควิด-19 มากถึง 1,107 คนจากจำนวนคนงานทั้งหมด 1,667 คน และมีคนติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน 15คนในแคมป์คนงานที่ตั้งอยู่ในซอยแจ้งวัฒนะ 5 ที่กำลังก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 3อาคาร  ถือเป็นการจุดชนวนให้เกิดการตรวจสอบหาเชื้อโควิดในแคมป์ก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯครั้งใหญ่

หลังจากนั้นก็ได้ตรวจพบแคมป์ก่อสร้างในซอยรามคำแหง 8 มีคนงานติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 19 คน และแคมป์คนงานของอิตาเลียน ไทย ในซอยเพชรบุรี 7 ติดเชื้อโควิด 16 คน ทำให้ต้องสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างทั้งหมดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา  จากการเข้าตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างของบริษัทซิโน-ไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ถนนพิบูลสงคราม เมืองนนทบุรี ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 900 คน ผลตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากถึง 519 คนและส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว

ข้อมูลอัพเดท ณ วันที่ 24 พฤษภาคม มีคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯที่ต้องเฝ้าระวังถึง 8 เขต  คือ เขตคลองเตย บางพลัด บางรัก บางคอแหลม ปทุมวัน ดอนเมือง และบางกะปิ  

จากจำนวนแรงงานก่อสร้างติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากในแคมป์ก่อสร้าง ถือเป็นผลกระทบครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับงานก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชนที่อาจจะต้องหยุดงานก่อสร้างหรือสร้างเสร็จไม่ทันตามกำหนด เพราะคนงานก่อสร้างติดเชื้อโควิดเกือบจะทั้งไซต์งานก่อสร้าง

โดยเฉพาะงานก่อสร้างของภาครัฐที่กำลังดำเนินงานก่อสร้างอยู่ในตอนนี้ เช่น งานอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่มีกำหนดส่งมอบในเดือนพฤษภาคมนี้  และงานก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ต้องจับตาดูว่าจะมี

นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยอีกหลายแห่งที่อาจจะได้รับผลกะทบจากแคมป์คนงานก่อสร้างติดโควิด-19  โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม ที่กำลังเร่งงานก่อสร้างเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงปลายนี้อีกหลายโครงการ อาจจะส่งมอบไม่ทันตามกำหนดเวลา กระทบต่อการโอนและรายได้ของบริษัท ขณะที่แต่ละปีมูลค่างานก่อสร้างในตลาดอสังหาฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*