ศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการหลังจากปี พ.ศ. 2540 ก็ยังคงมีอยู่ แต่เริ่มมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและอยู่ในทำเลใจกลางเมืองมากขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการใหม่ในปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2547 หรือถ้าอยู่นอกกรุงเทพมหานครก็จะมีขนาดที่ใหญ่โตมาก และจะมีผู้เช่ารายใหญ่ที่น่าสนใจมากขึ้นกว่าศูนย์การค้าที่เปิดให้บริการก่อนหน้านี้ โดยศูนย์การค้าที่น่าสนใจ คือ เอ็มโพเรียม ศูนย์การค้าที่เน้นสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงของกลุ่มเดอะมอลล์ตรงพร้อมพงษ์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่อยู่ในโครงการมิกซ์ยูสซึ่งมีทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และศูนย์การค้าในโครงการเดียวกัน

ปีเดียวกันกับที่เอ็มโพเรียมเปิดให้บริการตรงสี่แยกปทุมวันก็มีศูนย์การค้าแห่งใหม่เปิดเช่นกัน สยามดิสคัฟเวอรี่ เปิดปี พ.ศ. 2540 ด้วยขนาดประมาณ 40,000 ตารางเมตรขนาดไม่ใหญ่มาก แต่คอนเซ็ปต์ทันสมัยมาก เพราะจัดพื้นที่แบบ 1 ชั้นจะเป็นร้านค้า หรือสินค้าประเภทเดียวกันทั้งหมด (One Floor One Concept) หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2548 สยามพารากอน ศูนย์การค้าที่เน้นสินค้าแบรนด์เนมและร้านค้าชื่อดังเปิดให้บริการตรงสถานีรถไฟฟ้าสยามตอกย้ำให้พื้นที่ตั้งแต่สี่แยกปทุมวันต่อเนื่องไปถึงสี่แยกราชประสงค์กลายเป็นย่านช้อปปิ้งอย่างแท้จริง และช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2550 ก็แทบไม่มีศูนย์การค้าใหม่อีกเลย จะผ่านปี พ.ศ. 2550 ไป

ปี พ.ศ. 2554 ศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์เปิดให้บริการด้วยคอนเซ็ปต์แบบอาคารสนามบิน มีการจำลองสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศต่างๆ มาไว้ด้านในศูนย์การค้า ด้วยขนาดทั้งหมดประมาณ 145,000 ตารางเมตร รูปแบบของศูนย์การค้าในยุคหลังจากปี พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแบบชัดเจน ไม่มีแล้วการห้ามถ่ายรูปในศูนย์การค้า ศูนย์การค้าจำเป็นต้องสร้างจุดเด่นหรือจุดที่สามารถถ่ายรูปได้เพื่อให้ลูกค้าช่วยโปรโมทหรือเผยแพรรูปภายในศูนย์การค้าออกไปให้มากที่สุดผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Facebook ที่เริ่มเป็นที่นิยมในตอนนั้น

เมกาบางนา คือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการบนถนนบานา-ตราด โดยเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2555 หลังจากที่อิเกียซึ่งเป็น 1 ในผู้เช่าหลักเปิดในปี พ.ศ. 2554 ก่อนที่จะทยอยเปิดส่วนต่างๆ มาเรื่อยๆ กับขนาดของพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400,000 ตารางเมตร แต่หลายคนบอกว่าดูเหมือนะใหญ่กว่าศูนย์การค้าอื่นๆ อาจจะเพราะมีจำนวนชั้นที่น้อยกว่า โดยในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่เปิดให้บริการอีก เช่น เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ในปี พ.ศ. 2557 ศูนย์การค้าระดับ Luxury อย่างแท้จริงของประเทศไทย นอกจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลยังเปิดเซ็นทรัล เวสต์เกต และเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ในปี พ.ศ. 2558 กับอีกหลายสาขาทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลังจากนั้น

กลุ่มเดอะมอลล์เริ่มขยับตัวมากขึ้น และพยายามสร้างให้ศูนย์การค้าของตนเองเป็นศูนย์การค้ารูปแบบใหม่โดยการสร้าง 3 ศูนย์การค้าในทำเลเดียวกัน โดยพวกเขาสร้างเอ็มควอเทียร์ที่ฝั่งตรงข้ามเอ็มโพเรียมพร้อมกับประกาศจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็น ดิ เอ็ม ดิสทริค ซึ่งจะมี เอ็ม สเฟียร์ อีก 1 โครงการที่จะเปิดให้บริการในอนาคต โดยเอ็ม ควอเทียร์เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2558 จากนั้น กลุ่มเดอะมอลล์ก็ประกาศแผนจะพัฒนาโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่อีกแห่ง คือ แบงค็อกมอลล์ ตรงสี่แยกบางนา โดยรูปแบบโครงการจะมีทั้งศูนย์การค้า ฮอลล์แสดงคอนเสิร์ต สวนสนุก สวนน้ำ อาคารสำนักงาน โรงแรม ที่อยู่อาศัย พื้นที่รวมกว่า 870,000 ตารางเมตร

ปี พ.ศ. 2561 กลุ่มซีพีขยับเข้าสู่ธุรกิจศูนย์การค้าหลังจากที่ครองตลาดร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ตไปแล้ว ด้วยการร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธณ์และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น โดยการเปิดศูนย์การค้าไอคอนสยามในฝั่งธนบุรีติดแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยพื้นที่รวมกว่า 750,000 ตารางเมตร ศูนย์การค้าแห่งนี้รวมความเป็นที่สุด และความเป็นสาขาแรกในประเทศไทยของหลายแบรนด์ต่างประเทศ

ปี พ.ศ. 2562 สามย่าน มิตรทาวน์ของบริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด ในเครือทีซีซี เปิดให้บริการที่หัวมุมถนนพญาไทและพระรามที่ 4 เป็นศูนย์การค้ารูปแบบทันสมัยที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นในทันที โดยสามย่านมิตรทาวน์นับเป็นศูนย์การค้าแห่งล่าสุดของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ยังไม่ใช่ศูนย์การค้าแห่งสุดท้าย เพราะเทอร์มินัล 21 พระรามที่ 3 ก็กำลังก่อสร้างอยู่ เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกบนถนนพระรามที่ 3 ถนนที่เกือบจะกลายเป็นถนนเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานครก่อนปี พ.ศ. 2540

หลังจากปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมาก็แทบไม่มีศูนย์การค้าหรือโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะแทบจะทุกมุมเมืองมีศูนย์การค้าหมดแล้ว และยังมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินี่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็เป็นอีกอุปสรรคสำคัญเช่นกัน เพราะศูนย์การค้าต้องพัฒนาบนที่ดินขนาดใหญ่จึงยากในการตัดสินใจ เพราะผลตอบแทนคงไม่คุ้ม แต่อาจจะมีส่วนของพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ในโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่ เช่น วันแบงค็อก ของกลุ่มทีซีซี และดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค ของกลุ่มดุสิตกับเซ็นทรัล บนถนนพระรามที่ 4 และพื้นที่ค้าปลีกในโครงการมิกซ์-ยูสที่ไมเนอร์พัฒนาร่วมกับนายณ์ เอสเตทและกลุ่มสิวะดลที่เป็นเจ้าของที่ดิน อาจจะมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกเปิดใหม่บ้างในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เช่น ศูนย์การค้าในเมืองทองธานี หรือคอมมูนิตี้มอลล์ แต่ที่น่าสนใจและติดตามคือ ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่แทบไม่มีโครงการใหม่ๆ เลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตอนต่อไปมาดูความเป็นมา และที่จะเป็นไปในอนาคตของไฮเปอร์มาร์เก็ตกันนะครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*