บ้านสวนหลังน้อยที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านบางรักกับเสน่ห์วิถีชีวิตของชาวบางกอกที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

ย้อนไปราว 60-80 ปีก่อน บางกอก เมืองหลวงของประเทศสยาม กับวิถีชีวิตบ้านสวนริมแม่น้ำ กับบ้านสวนหลังน้อยในย่านบางรัก พื้นที่บ้านสวนผืนท้ายๆ ของย่านแห่งนี้ที่ยังคงสถาพเดิมเอาไว้อย่างดี ที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก บ้านไม้หลังเก่าริมน้ำที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของชาวบางกอกที่มีฐานะปานกลาง ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาจัดแสดงชวนย้อนระลึกความหลังให้เห็นภาพบรรยากาศของบ้านสวนริมคลองกับวิถีชีวิตของคนบางกอก

บริเวณนี้เคยเป็นคลองมีท่าเทียบเรือ เพราะวิถีชีวิตที่ผู้พันกับสายน้ำ ปัจจุบันเป็นบ่อน้ำ

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก หรือพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ เขตบางรัก เกิดจากความตั้งใจของอาจารย์วราพร สุรวดี ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งอยากจะจัดบ้านและทรัพย์สินข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งเป็นมรดกตกทอกจากมารดา คือ นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยที่คุณสอางมีชีวิตอยู่เป็นของใช้ที่ใช้งานจริง

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีทั้งหมด 4 อาคาร วันที่เราไปเปิดให้เข้าชม 2 อาคารคืออาคารหลังแรก และอาคารหลังที่ 2 อีก 2 อาคารกำลังบูรณะอยู่

อาคารหลังที่ 1 เป็นอาคารที่ครอบครัวอาจารย์วราพรเคยใช้อาศัยอยู่เมื่อในอดีต เป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวสีแดง ผนังอาคาร สร้างด้วยไม้ทาสีเลียนแบบผนังก่ออิฐถือปูนฝีมือช่างชาวจีนเป็นผู้ก่อสร้าง ที่เรียกกันว่าทรงปั้นหยายุคปลาย โดยลดลายฉลุที่ชายคาออก บริเวณสระหน้าบ้านเดิมเคยเป็นคลองที่ใช้สัญจรกันไปมาเป็นวิถีชีวิตของชาวบางกอกที่ผูกพันกับสายน้ำ อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 หรือเมื่อประมาณ 80 กว่าปีที่แล้ว ด้วยเงิน 2,400 บาท โดยเป็นอาคารที่คุณแม่ของท่านอาจารย์วราพรสร้างขึ้น

อาคารหลังที่ 2 บ้านหลังนี้เดิมปลูกอยู่ที่ทุ่งมหาเมฆ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เพื่อใช้ชั้นล่างเป็นคลินิกรักษาคนไข้ของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน (สามีของคุณสอาง) แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จก็เสียชีวิตเสียก่อน ต่อมาจึงได้ รื้อบ้านที่ทุ่งมหาเมฆ มาจัดสร้างไว้ที่นี่ โดยย่อส่วนลงตามพื้นที่ ที่มีจำกัด ตกแต่งบ้านด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของคุณหมอ ส่วนชั้นบนจะเป็นห้องนอน

เรือนไม้หลังนี้ย้ายมาจากทุ่งมหาเมฆ
บ่อน้ำระหว่างเรือนหลังแรก และเรือนไม้หลังที่ 2

อาคารหลังที่ 3 ชั้นล่างเป็นการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน มีทั้งเครื่องครัว เครื่องเขียน เครื่องมือช่าง เครื่องมือเครื่องใช้ใน งานหัตถกรรม ฯลฯ ชั้นบน แสดงภาพรวมของ กรุงเทพมหานคร

อาคารหลังที่ 4 ตรงข้ามกับศาลาริมน้ำ ดัดแปลงเป็นสำนักงานห้องสมุด อาจารย์วราพร

สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งเปิดให้เข้าชมฟรี  เปิดให้เข้าชมวันอังคาร–วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.-16.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ตั้งอยู่ที่ซอยเจริญกรุง 43 อยู่ตรงข้ามอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก สามารถจอดรถได้ชั่วโมงละ 20 บาท เดินข้ามมาประมาณ 200 เมตร

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*