EIC ปรับเป้าจีดีพีปีนี้โต 2.6%รับการส่งออกที่โตตามเศรษฐกิจโลก แต่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าๆ เหตุภาคการท่องเที่ยวยังซบเซาหนัก ชี้เม็ดเงินของภาครัฐและมาตรการกะตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ พรก.กู้เงิน 1ล้านล้านบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศ


นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาส1ปี 2464 ว่า  EIC ได้ปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้เพิ่มเป็นเติบโต 2.6% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่  2.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วกว่าคาด เพราะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยข้อมูลล่าสุดนั้นพบว่ามูลค่ากรส่งออกของไทยในช่วง2 เดือนที่ผ่านมา (ธันวาคม 2563-มกราคม 2564 ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และคาดว่าในระยะต่อไปการส่งออกจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ ทำให้คาดการณ์ว่ามูลค่าส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยาย 6.4% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 4%

อย่างไรก็ตามแม้การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดรอบแรก แต่ก็ทำให้การฟื้นตัวของการใช้จ่ายและรายได้สะดุดลงในระยะสั้น และเป็นข้อจำกัดหลักของการขยายตัวของกำลังซื้อในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ยังพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดการณ์ไว้ว่าผลกระทบของการระบาดรอบใหม่จะมีประมาณ 2 เดือน

ทั้งนี้ แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีไม่มากเท่ากับที่เคยเกิดเมื่อช่วงปี 2563ที่ผ่านมา แต่ถือว่าเป็นการซ้ำเติมแผลเป็นเศรษฐกิจของไทย ส่งผลให้การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง 3 ปีติดต่อกัน ขณะที่กิจการในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องซ้ำเติม ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงานที่ซบเซาอยู่แล้ว

โดยข้อมูลอัตราการว่างงาน ณ ธันวาคม 2563 อยู่ในระดับ 1.5% แต่ผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนรุนแรงและกว้างขวาง เนื่องจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานไทยลดลงกว่า 6% ขณะที่สัดส่วนผู้ทำงานต่ำระดับ (ต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้นกว่า 1.8 ล้านคน

ส่วนจำนวนคนทำงานอาชีพอิสระเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านคนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงธันวาคมปีที่ผ่านมา แต่รายได้เฉลี่ยของอาชีพอิสระประเภทต่าง ๆ ลดลงจากเดิมมากเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 11,600 บาทเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพค้าขายแผงลอย มีรายได้ลดลงมากกว่า 50% เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างที่รายได้ลดลงกว่า 60-90%

อย่างไรก็ตามแม้อัตราการว่างงานจะไม่มาก แต่แรงงานไทยกลับเผชิญกับปัญหารายได้ลดลงอย่างรุนแรง จากการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการบริโภคถูกกระทบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ธุรกิจท่องเที่ยวยังซึมยาวถึงสิ้นปี รอฉีดวัคซีน
แต่ในส่วนของภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 3.7 ล้านคน เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่อประเทศส่วนใหญ่มีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว (Herd immunity) เท่านั้น แต่ล่าสุดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีโอกาสได้รับภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3นี้ กลับไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย จึงทำให้การท่องเที่ยวของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และต้นปีหน้า

มาตรการรัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจฟื้นตัว
อย่างไรก็ดี เม็ดเงินจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการใช้จ่ายทั้งในส่วนของงบประมา และเม็ดเงินจากพรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ EIC คาดว่าภาครัฐจะมีการลงทุนด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 9.4%เมื่อเทียบกับปี 2563ที่ผ่านมา  นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการให้เงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ  โครงการเราชนะ และ ม. 33 เรารักกัน ซึ่งมีวงเงินช่วยเหลือกว่า 2.5 แสนล้านบาท ครอบคลุมผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 40 ล้านคน นับเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่จะที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงนี้

ทั้งนี้ EIC คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนหรือการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยภาครัฐยังเหลือเงินที่จะพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกประมาณ 3.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2.5 แสนล้านบาทที่เหลือภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และจากงบกลางอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*