อนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับโครการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สายสีชมพู (Pink Line)ช่วงศรีรัชเมืองทองธานี หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นับเป็นการรอคอยที่ไม่สิ้นหวังของ “อนันต์ กาญจนพาสน์” อดีตผู้ก่อตั้งบมจ.บางกอกแลนด์หรือ”บีแลนด์” และเจ้าของอาณาจักรเมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อหลายปีก่อน”อนันต์” เคยยื่นเสนอให้รัฐบาลชุดที่ผ่านมาพิจารณาโครงการนี้มาแล้วแต่ถูกปัดตกไป

ส่วนต่อขยาย ศรีรัชเมืองทองธานี พร้อมเปิดให้บริการปลายปี’67
สำหรับแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เข้าสู่เมืองทองธานี วิ่งไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา(ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)  ต่อเนื่องไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ระยะ มีสถานีรถไฟฟ้าให้บริการ 2 สถานี คือ สถานี MT-01 บริเวณหน้าอาคารอิมแพ็คชาเลนเจอร์ และสถานีMT-02 บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี ใกล้กับเอส ซีจี สเตเดี้ยม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบางตลาด คลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ ของเทศบาลนครปากเกร็ด

โดยคาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 37 เดือน และจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกันยายน 2567 กรอบวงงินลงทุน 4,230 ล้านบาท เบื้อต้นประเมินว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 13,785 คน-เที่ยว/วันหลังเปิดให้บริการในปีแรก

 รถไฟฟ้าดันราคาที่ดินเมืองทองธานีพุ่ง
จากการประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 48 ของบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มชาชน) เมื่อวันที่  23 กรกฎาคมปีที่ผ่านมา  นายซุยฮัง กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ ได้ชี้แจงกับผู้ถือหุ้นว่า บริษัทได้เตรียมเงินทุนไว้จำนวน 1,250 ล้านบาทสำหรับใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ร่วมกับกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป โดยเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะส่งผลดีต่อราคาที่ดินในโครงการเมืองทองธานีที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

เพราะตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูในพื้นที่บริเวณรอบนอกเมืองทองธานี ราคาที่ดินของบริษัทจะค่อยๆขยับขึ้นตามราคาตลาด ทำให้บริษัทมีกำไรจากการตีราคาที่ดิน ที่เป็นการลงทุนในอสังหาฯมาโดยตลอด

ปัจจุบันกลุ่มบีแลนด์ยังมีที่ดินรอบทะเลสาบกับที่ดินแปลงอื่นๆในเมืองทองธานีประมาณ 600 ไร่ โดยราคาที่บันทึกไว้ในงบการเงินประมาณ 80,000-100,000 บาทต่อตารางวา

ผ่าอาณาจักรเมืองทองฯ 4,000 ไร่
เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ ถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์แบบด้วยสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบวงจร โดยเป็นการลงทุนของกลุ่มบางกอกแลนด์ บนที่ดินแปลงใหญ่กว่า 4,000 ไร่  ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาพื้นที่เพื่อขายและปล่อยเช่าไปค่อนข้างมากแล้ว

โดยเฉพาะศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” ซึ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่จัดแสดงงานมากกว่า 140,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้กว่า 50,000 คนพร้อมกัน

แต่ละปีสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทจาก 3 ส่วนหลักคือ การให้บริการพื้นที่จัดงานแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม  อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจโรงแรม ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ 2 แห่ง คือ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และโรงแรมไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค มีห้องพักให้บริการรวมกันกว่า 1,000 ห้อง

ทั้งนี้ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา พื้นที่อิมแพ็คฯได้ถูกจองพื้นที่เพื่อจัดงานอีเว้นท์ใหญ่ๆมากกว่า 15 งานต่อปี  อาทิ Thailand Digital Big Bang งานบ้านและสวนแฟร์ งานมอเตอร์ เอ็กซ์โป และงาน OTOP City รวมถึงงานคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศ ทำให้แต่ละปีมีผู้คนทั้งคนไทยและต่างชาติกว่า 10 ล้านคนเดินทางเข้ามาร่วมงานประชุม นิทรรศการ งานแสดงสินค้าและงานอีเว้นท์ต่างๆ

แต่ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการยกเลิกงานอีเว้นท์และเลื่อนการจัดงานไปพอสมควร เนื่องจากอิมแพ็คได้ถูกสั่งปิดพื้นที่จัดงาน ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงช่วงกลางเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา รวมถึงโรงแรมไอบีส และคอมมูนิตี้มอลล์

นอกจากพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คฯแล้ว ในพื้นที่”เมืองทองธานี” ยังมีอาคารสำนักงาน ที่มีพื้นที่รวมกว่า 500,000 ตารางเมตร พื้นที่เชิงพาชย์ขนาดพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร และพื้นที่ค้าปลีก คอสโม บาซาร์, เอ้าท์เล็ต สแควร์ และบีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ เป็นต้น

ชุมชนเมืองใหญ่เทียบเท่าเทศบาล
ขณะเดียวกันในอาณาจักรเมืองทองธานี ยังมีโครงการจัดสรรทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรของกลุ่มบางกอกแลนด์จำนวนกว่า 50,000 ยูนิต และโครงการบ้านจัดสรรของดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ตั้งอยู่ด้วยจำนวนหลายพันยูนิต ทั้งของกลุ่มพฤกษา และแสนสิริ

รวมถึงยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัยศิลปากร ซิตี้ แคมปัส,โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์,สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม,กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง,กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป,สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และสนามฟุตบอลเอสซีจี สเตเดี้ยม เป็นต้น

ในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายศรีรัชเมืองทองธานี สร้างเสร็จและเปิดให้บริการ จะป็นการเพิ่มเส้นทางให้คนเดินทางเข้ามาชมงานอีเว้นท์ คอนเสิร์ต จับจ่ายใช้สอย ทำงาน และพักอาศัยอยู่ในเมืองทองธานีง่ายขึ้น จากปัจจุบันที่มีทางด่วนอุดรรัถยา  รถเมล์ขสมก. และรถตู้ เป็นบริการสายหลักเพื่อเข้าสู่เมืองทองธานี

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองหรือ Feeder Line มีเส้นทางรถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี  รถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ  และรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีมีนบุรี

ดังนั้นเมื่อมีผู้คนเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ก็จส่งผลผลบวกให้ราคาค่าเช่าร้านค้าย่อย และออฟฟิศที่ตั้งอยู่ในเมืองทองธานีปรับสูงขึ้นได้ รวมทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้กับแลนด์แบงก์ที่ยังเหลืออยู่อีกหลายร้อยไร่ของบีแลนด์

ภาพประกอบ:www.bangkokland.co.th

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*