สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านผนึกสภาหอการค้าฯยื่นข้อเสนอรมว.คลัง ช่วยเหลือผู้มีกำลังซื้อบ้าน ในเรื่องค่าจดจำนอง-โอน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มั่นใจช่วยดันมูลค่าตลาดรวมปีนี้แตะ12,000-12,500 ล้านบาท รับพิษโควิด-19 ส่งผลแย่งแรงงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการยอมแก้ปัญหาปรับขึ้นค่าแรงเกือบ 400 บาท/วัน พร้อมสานต่อนโยบายเดิมผ่าน 3 นโยบายหลัก
นายวรวุฒิ กาญจนกูล
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยถึงภาพตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2564 ว่า มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมได้และหวังว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนในเรื่องที่รัฐบาลได้มีความชัดเจนเรื่องวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หากมีการเริ่มฉีดให้กับประชาชนแล้วได้ผลดี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ และเชื่อว่าในครึ่งหลังของปี 2564 ทุกอย่างน่าจะดีขึ้นแน่นอน และยังมีโครงการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งได้ผลดีต่อการเพิ่มการจับจ่ายสอยมากขึ้นให้กับประชาชน

สำหรับมาตรการของภาครัฐนั้นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด ล่าสุดสมาคมรับสร้างบ้าน ในฐานะที่เป็นสมาชิกกับสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกับนายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อหารือถึงข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพ่วงการช่วยเหลือธุรกิจรับสร้างบ้าน เข้าไปด้วยใน 2 เรื่อง จากทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือรายการละ 0.01% กับกลุ่มราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้รวมถึงธุรกิจรับสร้างบ้านเข้าไปอยู่ในนิยามดังกล่าว จากเดิมจะครอบคลุมเฉพาะบ้านจัดสรรและบ้านมือสอง เท่านั้น รวมถึงการได้รับสนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ซึ่งเตรียมที่จะนำเสนอและหารือกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณา

“ที่ผ่านมาสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีการรวมกลุ่มอย่างชัดเจน แต่เมื่อได้มีการเห็นมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจแล้ว ทำให้ได้รับการยอมรับจากสมาคมอื่นๆมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ มีความพยายามนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของบ้านสร้างเอง ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท/ปี โดยแบ่งเป็ฯในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 50,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดต่างจังหวัดมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านบาท ซึ่้งหากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุป หรือ มีการออกมาตรการมาสนับสนุน เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงกระตุ้นการตัดสินใจของประชาชนผู้บริโภค ที่จะทำให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ มีมูลค่ารวมที่ 12,000-15,000 ล้านบาท” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อตลาดรับสร้างบ้าน ทำให้ตลาดรวมลดลง 5% มาอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท(ตัวเลขเท่ากับปี 2561) จากเดิมที่ประมาณการทั้งปีจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 12,500 ล้านบาท ทำ และสมาคมฯ เองก็ได้ลดการจัดกิจกรรมการตลาดเหลือเพียงครั้งเดียวเดือนตุลาคม เนื่องจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) จากปกติในแต่ละปีจะจัด 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคม ภายใต้ชื่อ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2020”

“จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับไปยังบ้านเกิด ไม่สามารถกลับเข้ามายังประเทศไทยได้ ทำให้เกิดการขาดแคลนและแย่งแรงงานขึ้น ส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 331 บาท/วัน เพิ่มเป็นเกือบ 400 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20 % เพื่อสร้างบ้านให้กับลูกค้า ขณะที่ภาพรวมต้นทุนวัสดุก่อสร้างยังไม่มีแนวโน้มการปรับขึ้นราคา ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 70-75% ของต้นทุนการก่อสร้างบ้าน” นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มราคาสร้างบ้านในแต่ละปีจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขของยอดขายในงานรับสร้างบ้านในแต่ละปี โดยปี 2561 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.9 ล้านบาท ปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ล้านบาท และปี 2563 ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่า ในปีที่ผ่านมา บ้านระดับราคา 5 ล้านบาท มียอดจองในสัดส่วนที่สูงขึ้น ขณะที่ราคาต่ำกว่า 2-3 ล้านบาท หายไปประมาณ 20% แต่กลับไปเพิ่มในตลาดราคา 10-20 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ และด้วยราคาโปรโมชั่น ทำให้มีความต้องการสร้างบ้านมากขึ้น

สำหรับในปี 2564 สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้สานต่อนโยบายต่อเนื่องจากปีก่อนใน 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้ คือ
1. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและงานขาย ผ่านการจัดงานใหญ่ประจำปี 2 ครั้งเหมือนเดิมภายใต้ชื่อ “งานรับสร้างบ้าน Focus 2021” ในช่วงเดือนมีนาคม และ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021” ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งปีนี้จัดที่ศูนย์การแสดงสินค้าเมืองทองธานี

2.โครงการจัดทำ “มาตรฐานกลางการก่อสร้าง” โดยสมาคมฯได้ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำมาตรฐานกลางการก่อสร้างขึ้นมาในทุกๆระบบงานก่อสร้างที่เกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน การจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาจะเกิดประโยชน์ใน 3 ด้านคือ
2.1.เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานงานบริการในธุรกิจรับสร้างบ้านของสมาชิกสมาคมฯ
2.2.เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ผู้บริโภค
2.3.เพื่อช่วยลดข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างลูกค้ากับบริษัทรับสร้างบ้าน

3.โครงการ “แบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ “บ้านเบอร์ 5” โดยคาดว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจะได้ลงนามหนังสือบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างสมาคมฯกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานได้ ตามนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาประเทศและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนที่ผ่านมา พพ. ให้ความสำคัญกับแนวคิดบ้านประหยัดพลังงาน และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสู่ประชาชนภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาชิกของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมกับ พพ.มาตลอดเช่นกัน

ทั้งนี้ การลงนามหนังสือบันทึกข้อตกลง (MOU) ในครั้งนี้ระหว่างสมาคมฯ กับ พพ. เกี่ยวกับแบบบ้านประหยัดพลังงานนี้ จะนำไปสู่การลงลึกในรายละเอียดอื่นๆในหลายด้าน โดยแบบบ้านที่ได้การรับรองให้ติด “ฉลากเบอร์ 5” นั้นจะต้องมีรายละเอียดระดับประสิทธิภาพที่ตรวจสอบหรือวัดได้ชัดเจนว่าได้ว่าประหยัดพลังงานได้จริงๆกี่หน่วยหรือกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นต้น รวมถึงการนำเอามาตรการด้านการลดหย่อน “ภาษี” มาใช้เป็นแรงจูงใจ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนปลูกสร้างบ้านประหยัดพลังงานหรือนำเอาแบบบ้านที่ได้รับการรับรองจาก พพ.ที่ติด “ฉลากเบอร์ 5” มาเป็นแบบในการปลูกสร้าง

นอกจากนี้ ในอนาคตสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีแนวคิดที่จะเข้าไปปรึกษาหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยเช่นกันถึงแนวนโยบายต่างๆ ของกฟผ. เกี่ยวกับ “ค่าไฟ” ว่าจะสามารถมีแนวทางใดบ้างที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนผู้บริโภคในกรณีที่นำเอาแบบบ้านที่ได้รับการรับรองจาก พพ.ที่ติด “ฉลากเบอร์ 5” มาปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*