ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ยังเป็นประเด็นร้อนฉ่าหลังผู้ว่ากทม. อัศวิน ขวัญเมือง ประกาศว่าวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้จะเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่สูงสุด 104 บาท จากจำนวนรถฟ้าทั้งหมด 59 สถานี ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา อดีตรองผู้ว่า กทม. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ก็ได้โพสต์ในเฟสบุ้คส่วนตัว เปรียบเทียบราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ว่าแพงนั้น(สูงสุด 65 บาท) มีราคาพอๆ กับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มของรฟม. ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน

โดยวันที่ 1 มกราคม 2566 ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มจะอยู่ระหว่าง 17-62 บาท ขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะอยู่ระหว่าง 16-68 บาท ซึ่งคำนวณจากค่าโดยสารในปัจจุบัน 15-65 บาท (กรณีขยายสัมปทานออกไป 30 ปี) โดยใช้อัตราเงินเฟ้อ 2% ต่อปี พร้อมกับตั้งคำถามว่ากระทรวงคมนาคมจะหั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มลงหรือไม่?

 ในวันนี้  นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ได้ชี้แจงถึงประเด็นข่าวดังกล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request for Proposal: RFP) ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท และคิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาทต่อสถานี

โดยอัตราอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่ 62 บาท หากผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม. ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2566 – 2567 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization

แต่อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโดยสารข้างต้นยังไม่ใช่ราคาที่รฟม. จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามที่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจาก รฟม. ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนที่ผ่านการประเมินสูงสุดในการปรับลดอัตราค่าโดยสารให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพและประชาชนยอมรับได้


รูปประกอบ: facebook.com/MRTOrangeLineEast

ทั้งนี้ รฟม. คาดการณ์ว่าอัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี 2567 (โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี) จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท

นอกจากนี้ รฟม. จะเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุดเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นพื้นฐานอัตราเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. คือ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization โดยจะเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม.


 รูปประกอบ: facebook.com/MRTOrangeLineEast

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา งานโยธิการรวม มีความคืบหน้าแล้ว 74.37% โดยฉพาะงานก่อสร้างสถานีลำสาลี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกลำสาลี มีความยากและซับซ้อนมากที่สุด เพราะตัวสถานีจะอยู่ใต้คลองโต๊ะยอและสะพานรถยนต์ยกระดับข้ามแยกลำสาลี ขณะนี้งานก่อสร้างด้านโยธาฯมีความคืบหน้า 84.54% และงานตกแต่งสถาปัตยกรรมคืบหน้า 6.28%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*