ในปี 2563ที่ผ่านมา  ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและธุรกิจโรงแรมที่หดตัวแรง โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ออกมาตรการปิดเมือง-ปิดประเทศ (Lockdown)เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลื่อนหรือยกเลิกแผนการเดินทางทั้งหมด

ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขาดรายได้อย่างฉับพลัน บางรายที่ทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินไม่ไหวก็ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจชั่วคราวหรือปิดถาวร รวมทั้งประกาศขายกิจการทิ้ง ขณะที่บางโรงแรมมีการปรับตัวให้เช่าห้องเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ หรือปล่อยเช่ารายเดือนแทน

 ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นปัจจัยลบต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอีกครั้งในปี 2564 แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นต่างๆ จากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคลายล็อกดาวน์ นโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและคืนภาษี หรือแม้กระทั่งการเพิ่มวันหยุดยาวพิเศษ เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนไทยในประเทศที่มีสัดส่วนรายได้เพียง 30-40% ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

แต่อย่างไรก็ตาม คอลลิเออร์ฯก็เชื่อมั่นว่า ทิศทางกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในครึ่งหลังของปีนี้ โดยใช้สมมติฐานว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดประเทศและไม่มีข้อจำกัดการเดินทาง หลังจากวัคซีนโควิด-19 ได้ถูกพัฒนาและเริ่มมีการทดลองใช้ในหลายประเทศ

สอดคล้องกับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าทั้งปี 2564 ที่ประเมินกันว่าจะมีประมาณ 11 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ผลสำรวจจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยของสำนักงานลอนดอนระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 จุดหมายปลายทางที่ชาวอังกฤษต้องการเดินทางมาเที่ยวในช่วงฤดูร้อนกลางปีนี้ ผนวกกับแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจากภาครัฐผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 2” ที่เปิดให้จองสิทธิ์ห้องพักจำนวน 1 ล้านสิทธิ์ใหม่  และการประกาศเพิ่มวันหยุดพิเศษในปีนี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

โรงแรมลักชัวรี่กลางกรุงเปิดตัวใหม่ต่อเนื่อง

โดยในปีนี้จะมีโรงแรมระดับระดับลักชัวรี่ในกรุงเทพฯที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในปีนี้ประมาณ 4 โครงการจำนวนห้องพักรวม 726 ห้อง และในปี 2565 อีกประมาณ 600 ห้อง  ขณะเดียวกันยังมีโรงแรมระดับลักชัวรี่อีก 2 โครงการประมาณ  423 ห้องที่เลื่อนเปิดตัวจากปี  2563 ที่ผ่านมา อาจจะปรับแผนการเปิดตัวใหม่อีกครั้งในอนาคต หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ทั่วโลกยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนห้องพักโรงแรมระดับลักชัวรี่ในกรุงเทพฯอยู่ทั้งหมด 12,943 ห้อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5.5% จากช่วงครึ่งแรกของปีเดียวกัน  โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา พบว่ามีโรงแรมระดับลักชัวรี่เปิดบริการใหม่ 3 โครงการจำนวน 674 ห้อง คือ โรงแรมสินธร เคมปินสกี แบงค็อก กรุงเทพ ของบริษัทสยามสินธร จำกัด ตั้งอยู่ติดกับสวนลุมพินี มีห้องพักจำนวน 274 ห้อง  และโรงแรมโฟร์ ซีซั่นส์ โฮเต็ล แบงค็อก แอท เจ้าพระยาริเวอร์  จำนวน 299 ห้อง กับโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ จำนวน 101 ห้อง ของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน)  ล่าสุดกลุ่มคันทรี่ กรุ๊ป  ได้ขายทั้ง 2โรงแรมให้กับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จํากัด (มหาชน) ไปแล้ว

อัตราการเข้าพักลดฮวบไม่ถึง 30%

สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรี่ช่วงครึ่งหลังของปี2563 มีประมาณ 28% ปรับตัวลดลง 7% เมื่อเทียบกับอัตราเข้าพักเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่สถิติการเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนมกราคม มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 77.97% และเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงมาอยู่ที่ 58.39% และปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 20.82% ในเดือนมีนาคม ก่อนจะปรับตัวลดลงต่ำสุดในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.26% หลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และปิดน่านฟ้า

ส่วนเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 3.83% ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ 13.48% หลังจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์การเดินทางในประเทศ ทำให้คนไทยเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา หัวหิน และชะอำ เป็นต้น

ทำให้ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อัตราการเข้าโรงแรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25.41% และปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนสิงหาคมจำนวน 26.93% และเดือนกันยายนอยู่ที่ 27.98%

ราคาเช่าห้องพักลดลงกว่า50%

จากผลกระทบจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการห้องพักของโรงแรมลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาปรับใช้ เช่น ปรับลดราคาค่าห้องพักลงกว่า 50% สำหรับนักท่องเที่ยวไทย ปล่อยเช่าพักห้องระยะยาว ( รายเดือน ) โดยค่าห้องพักปรับลดลงกว่า 50% เช่นเดียวกันและรวมการบริการอื่นๆ เช่น บริการทำความสะอาดให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และน้ำดื่ม โดยราคาเฉลี่ยห้องพักรายวันของโรงแรมระดับลักชัวรี่ในช่วงสิ้นปี 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3,840 บาทต่อคืน ลดลง 20% จากในช่วงครึ่งแรกของปี

นอกจากนี้ยังมีเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่งปรับโรงแรมให้เป็นสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่กักกันทางเลือกทั้งหมดประมาณ  116 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญากับ ASQ จำนวน 17 แห่ง สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ (Alternative Local Quarantine : ALQ) 39 แห่ง และสถานกักกันที่เป็นโรงพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine : AHQ) 183 แห่ง

11เดือนแรกปี’63นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย 81%

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก  โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทาเข้ามาในประเทศไทยช่วง 11 เดือนของปี  2563 ลดเหลือเพียงแค่ 6,695,840 คนเท่านั้น ปรับตัวลดลงกว่า 81.38% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ประมาณ 35,968,914 คน โดยเฉพาะในช่วง 5 เดือนสุดท้าย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแค่  4,260 คนเท่านั้น

ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศช่วงเดือนตุลาคม หลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาพำนักระยะยาว ประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน และสามารถขอต่อวีซ่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวมเป็นระยะเวลา 270 วัน โดยเบื้องต้นมีการกำหนดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้สัปดาห์ละ 100-300 คน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*