LPN Wisdom ประเมินสถานการณ์เลวร้ายสุดตลาดอสังหาฯกทม.-ปริมณฑลปี’64 มีโอกาสติดลบ 3%หากรัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 รอบใหม่ไม่ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ฉุดความเชื่อมั่นดีเวลอปเปอร์ชะลอแผนเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่กำลังซื้อผู้บริโภคหดตัว ชี้หากปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ รัฐควบคุม Covid-19 ได้และประชาชนได้รับวัคซีน 50% ของประชากรไทยทั้งประเทศภายในปีนี้ ตลาดอสังหาฯจะกลับมาเป็นบวก 10%

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom: LWS) ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงบทวิจัยทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2564 ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัทได้ปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาฯในปี 2564 ใหม่จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตได้ประมาณ 3-5% และการเปิดตัวโครงการใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่า ทำให้บริษัทต้องปรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาฯในปีนี้อาจจะติดลบ 3% ถึงเติบโตได้ 10% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ของรัฐบาล โดยแบ่งการคาดการณ์ตลาดอสังหาฯออกเป็น 3 สถานการณ์ คือ

Best Case Scenario หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และวัคซีนสามารถเข้าถึงประชาชนได้ 50% ของประชากรไทยทั้งประเทศภายในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5% และจะส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9-10% ส่วนมูลค่าของโครงการเปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้น  13-15% เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายได้ระบายยูนิตคงค้างไปได้จำนวนมากในปี 2563 และจะเริ่มเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในปีนี้

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกปีนี้ โดยประเมินว่าจะมีการระบายสินค้าออกไปได้ 6,500 ยูนิตต่อเดือน  หรือขยายตัวประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

Base Case Scenario หากภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ภายในเดือนเมษายน คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3%  และมูลค่าของโครงการเปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% ส่วนจำนวนยูนิตเปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้น 7-9%  ขณะที่กำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี  ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าในแต่ละเดือนจะสามารถระบายจำนวนที่อยู่อาศัยได้ 6,000-6,300 ยูนิต หรือขยายตัวประมาณ 0-5%

Worst Case Scenario หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้ หรือควบคุมได้หลังไตรมาสสองของปีนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดอสังหาฯทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่และกำลังซื้อในตลาด

โดยคาดว่ามูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่จะติดลบต่อเนื่องจากปี 2563ประมาณ 15-18%  และจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จะติดลบประมาณ 8-12% ขณะที่ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะลดลงติดลบ 3-5% หรือสามารถระบายสินค้าออกไปได้ 5,700-5,800 ยูนิตต่อเดือน

ตลาดอสังหาฯปี’63 เปิดตัวใหม่หดตัว 37%

สำหรับภาพรวมของอสังหาฯในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในปี 2563 ที่ผ่านมา นายประพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงประมาณ 37% จากปี 2562 ที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ทั้งหมด 111,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า โครงการรวม 448,000 ล้านบาท ลดเหลือ 70,000 ยูนิต มูลค่าโครงการรวม 276,000 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 และเน้นเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรมากกว่าคอนโดมิเนียม

ทั้งนี้จากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ทั้งหมด 70,000 ยูนิต เป็นบ้านจัดสรรมากถึง 63% จำนวน 44,001 ยูนิต มูลค่า 205,578 ล้านบาท ขณะที่การเปิดตัวคอนโดฯใหม่มีจำนวนลดลงถึง  60% เมื่อเทียบกับในปี 2562 ที่มีจำนวนห้องชุดเปิดตัวใหม่ 64,639 ยูนิต ลดลงเหลือ  26,125 ยูนิต เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาเร่งระบายสต็อกห้องชุดคงค้างในมือที่มีจำนวนมากถึง 94,000 ยูนิตในช่วงปลายปี 2562

  

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*