ภาคเอกชนคาดภาพรวมตลาดอสังหาฯปี64 เริ่มฟื้นตัว ต่างชาติยังมีความต้องการลงทุนสูง ล่าสุด 3 สมาคมผนึกกำลังร่อนหนังสือถึงรมว.คลัง พิจารณา 5 ข้อเสนอ หวังกระตุ้นกำลังซื้อ 3 กลุ่มหลัก ล่าสุดเลื่อนจัดงาน“มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42” เป็นระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2564 ณ สยามพารากอน ผู้ประกอบการตอบรับดี เตรียมขยายพื้นที่เพิ่ม คาดเม็ดเงินสะพัด 4,000 ล้านบาท
นายชัยรัตน์ ธรรมพีร
นายชัยรัตน์ ธรรมพีร อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย ในฐานะประธานการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2564 ว่า ตลาดแนวราบยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกโซนของกทม.และปริมณฑล รวมไปถึงตลาดต่างจังหวัด ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมติดแนวรถไฟฟ้ายังไปได้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายตลาดคอนโดฯจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างเร่งระบายสต๊อกเก่าให้หมดไป ทำให้ซัพพลายใหม่เริ่มลดลง เพราะโครงการที่จะเปิดตัวใหม่ในอนาคตต้องรอการจัดทำรายงานการวิเคราห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ให้ผ่านก่อน จึงจะสามารถก่อสร้างโครงการได้ ในขณะที่ดีมานด์ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวต่างชาติยังมีความสนใจที่จะลงทุนซื้ออสังหาฯในประเทศไทย โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และเกาหลี เพราะมองว่าประเทศไทยมีความน่าอยู่อาศัย มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี และมีค่าครองชีพที่ถูก ประกอบกับในช่วงนี้สถาบันการเงินมีการปล่อยดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ เพื่อเอื้อต่อลูกค้า และทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดต่อไปได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา 3 สมาคมอสังหาฯ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร,สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ได้ส่งหนังสือเพื่อยื่นข้อเสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไปยัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา  เนื่องจากมองว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงจุดวิกฤติ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ทาง 3 สมาคมฯ มองว่ากำลังซื้อในตลาดขณะนี้คงเหลืออยู่ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง ผู้ซื้อเพื่อการลงทุน และผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้น จึงได้นำเสนอมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้ซื้อทั้ง 3 กลุ่ม เร่งการตัดสินใจซื้อเพื่อประคองสถานการณ์ ดังนี้

1.ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราต่ำสุดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่ และบ้านมือสองจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าทุกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) มีระบบการพิจารณาที่เข้มงวดอยู่แล้ว

3.ขอให้มีการประกาศขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ

4.ขอให้ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด

  • มูลค่า 3-5 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี
  • มูลค่า 5-10 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี
  • มูลค่าเกิน 10 ล้านต่อห้อง ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

5.ขอให้นำโครงการบ้านดีมีดาวน์ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาท ต่อราย เป็น 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

“ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาภาครัฐพยายามให้ความช่วยเหลือธุรกิจอสังหาฯอยู่ และทราบมาว่าอาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงอีก ดังนั้นใครที่คิดจะซื้อบ้านในช่วงนี้ควรรีบตัดสินใจ สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้นก็ต้องรอลุ้นว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด”นายชัยรัตน์ กล่าว

นายชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นดีมานด์ในปี 2564 ทาง 3 สมาคมฯจึงได้เตรียมจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42” ภายหลังจากที่เลื่อนการจัดงานมา 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยงานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2564 ณ สยามพารากอน ซึ่งเดิมจองพื้นที่ไว้ 2 ฮอลล์ แต่ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมีผู้ประกอบการจองเต็มพื้นที่ 235 บู๊ธ(ไม่รวมสถาบันการเงินและผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน) กว่า 1,000 โครงการ จาก 200 กว่าบริษัท ดังนั้นจึงได้ขยายพื้นที่การจัดงานเพิ่มเป็นอีก 1 ฮอลล์ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาร่วมออกบู๊ธแบ่งเป็นโครงการในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล สัดส่วน 80% และต่างจังหวัด 20% มีทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง

“ผมเชื่อว่าในปี 2564 นี้ ผู้ประกอบการยังมีการแข่งขันลดราคากันมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยยังถูก ขณะเดียวกันค่าก่อสร้างก็มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จากปีนี้ที่ปรับลดลงมา 5% เนื่องจากปริมาณงานที่รับน้อยลง ส่วนการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯนั้น ขณะนี้ทาง 3 สมาคมฯอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือว่าจะยุบการจัดงานเหลือเพียงปีละ 1 ครั้งเหมือนในอดีตหรือไม่ คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเร็วๆนี้”นายชัยรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามคาดว่าการจัดงาน “มหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42”  ในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับดี มีผู้เข้าชมงานมากกว่าครั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 400,000 คน เพิ่มขึ้น 20% และมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 4,000 ล้านบาท จากครั้งที่ผ่านมาที่ 3,500 ล้านบาท

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*