ปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” ในประเทศแถบตะวันตก หมายถึงการที่ประชากรวัยทำงานย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมบ้านกับพ่อแม่อีกครั้งโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บทความนี้นำเสนอ “บูมเมอแรงคิดส์” อีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าภายหลังจากมีลูก คนไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มากขึ้น และการอยู่ร่วมกันนี้ส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง โดยนอกจากจะเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานแล้ว ยังเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของผู้หญิงอีกด้วย

ปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” (Boomerang Kids) ในประเทศแถบตะวันตก หมายถึง การที่ประชากรวัยทำงานที่เคยย้ายออกมาอยู่ด้วยตนเองได้ย้ายกลับไปอยู่อาศัยร่วมบ้านกับพ่อแม่อีกครั้ง ปรากฎการณ์นี้จะมักเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ทั้งจากการว่างงาน หรือการเปลี่ยนจากการจ้างงานเต็มเวลาเป็นการทำงานบางช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น Dettling and Hsu (2018) พบว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศสหรัฐอเมริกาส่งผลทำให้สัดส่วนการอยู่อาศัยร่วมกันกับพ่อแม่ของแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ระหว่างปี 2005–2014

นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางบวกของการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ต่อผลลัพธ์ในตลาดแรงงานของผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น Del Boca (2002) พบความสัมพันธ์ทางบวกของการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงในประเทศอิตาลี และความสัมพันธ์ทางลบต่อการตัดสินใจส่งลูกไปยังสถานรับเลี้ยงเด็ก ขณะที่ Chen et al. (2000) พบว่าการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่หรือในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ ทำให้ผู้หญิงในประเทศจีนเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น นอกจากนี้ Oishi and Oshino (2006) ยังพบว่าการอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของทางสามีหรือภรรยา ส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของฝ่ายหญิงในประเทศญี่ปุ่น และสุดท้าย Kueh (2017) พบว่าในประเทศเยอรมัน แรงงานเพศหญิงที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ มีแนวโน้มที่จะทำงานประจำมากขึ้น

งานวิจัยของผู้เขียนและ Ms. Lusi Liao ที่มีชื่อว่า “Alternative boomerang kids, intergenerational co-residence, and maternal labor supply” (Liao and Paweenawat, 2020) ได้ศึกษาสองประเด็นดังกล่าวในประเทศไทย พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 2 ประการดังต่อไปนี้

1) ปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” แนวใหม่ในประเทศไทย
งานวิจัยชิ้นนี้พบปรากฎการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” อีกรูปแบบหนึ่งในประเทศไทยซึ่งมีความแตกต่างจากที่พบในประเทศแถบตะวันตก สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้นพบว่าภายหลังจากมีลูก คนไทยมีแนวโน้มย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น โดยในเบื้องต้น ข้อมูลการสำรวจภาวะการทํางานของประชากร (Labor Force Survey หรือ LFS) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 1985-2016 แสดงว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่แต่งงานแล้วและอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 10 จุด (percentage points) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (จากร้อยละ 17 ในปี 1985 เป็นร้อยละ 26 ในปี 2016) ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนที่ยังไม่ได้แต่งงานและอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มลดลงและคงที่ในช่วง 20 ปีหลัง (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 สัดส่วนของครัวเรือนที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ (ครัวเรือนที่แต่งงานแล้ว vs ครัวเรือนที่ยังไม่ได้แต่งงาน), 1985-2016

ที่มา – Liao and Paweenawat (2020)

นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนแบบนับซ้ำ (Socio-Economic Survey หรือ SES Panel) ที่ติดตามกลุ่มคนกลุ่มเดิมระหว่างปี 2005–2012 พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนกลุ่มที่แต่งงานแล้วและมีลูก ที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ ต่อครัวเรือนทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนที่แต่งงานแล้วและไม่มีลูก ที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีแนวโน้มคงที่ เช่นเดียวกับการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ของกลุ่มคนโสดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผลการประมาณการณ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า การมีลูกเล็ก (0–5 ปี) จะเพิ่มโอกาสการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ถึงร้อยละ 32–34 ความสัมพันธ์เชิงบวกดังกล่าว มีสาเหตุจากความต้องการความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร และการสนับสนุนจากพ่อแม่ในการแบ่งเบาภาระงานบ้าน โดยงานวิจัยของ Chen et al. (2000) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา ความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีจำกัดและการขาดความยืดหยุ่นในด้านเวลาทำงานของแม่ ทำให้ภาระการดูแลเด็กและงานบ้านบางส่วนตกอยู่กับปู่ยาตายายและแม่ การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่จะทำให้แม่มีเวลามากขึ้น

2) การอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่ส่งผลเชิงบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย
นอกจากผลการศึกษาที่พบว่าการมีลูกส่งผลต่อการย้ายกลับเข้าบ้านเนื่องจากต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่แล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่าการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง โดยจากการศึกษาข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาพบว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูกอายุน้อย (0–5 ปี) ที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ มีอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานที่สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ถึง 10 จุด (percentage points) (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงาน (ผู้หญิงที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ vs ผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่)

ที่มา – Liao and Paweenawat (2020)

นอกจากนี้ ผลการประมาณการณ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า การอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลเชิงบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูก โดยเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึงร้อยละ 21 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ และผู้หญิงที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่จะมีจำนวนชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสามีหรือภรรยา ทำให้ได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้าน ส่งผลให้ผู้หญิงมีเวลาในการเข้าร่วมตลาดแรงงานมากขึ้น

ข้อค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในหลายประเทศในเอเชีย เช่น Nakamura and Ueda (1999) ที่พบว่า ในประเทศญี่ปุ่น ผู้หญิงที่มีลูกอ่อนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่จะมีโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 เช่นเดียวกันกับงานวิจัยของ Shen et al. (2016) ที่พบว่า ในประเทศจีน ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่มีโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีจำนวนชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น 20–26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ในมิติของระดับการศึกษา งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า การอยู่ร่วมกับพ่อแม่จะส่งผลเชิงบวกในกลุ่มผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษามากที่สุด โดยจะเพิ่มโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึงร้อยละ 28 และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจะมีโอกาสเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มร้อยละ 9 และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การอยู่ร่วมกันนั้นไม่มีผลกับโอกาสในการเข้าร่วมตลาดแรงงานของกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่สูงทำให้ผู้หญิงมีรายได้และความสามารถที่จะจ่ายค่าสถานเลี้ยงดูเด็กได้ ซึ่งทำให้มีภาวการณ์พึ่งพิงพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานค่อนข้างน้อย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
บทความนี้ได้นำเสนอผลการศึกษาที่พบว่าการอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อแรงงานหญิงไทย และยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ทำให้ครัวเรือนไทยส่วนหนึ่งยังจำเป็นต้องพึ่งพิงพ่อแม่ในการดูแลบุตรหลานแทน ดังนั้น หากภาครัฐต้องการให้ผู้หญิงเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มประชากรวัยทำงานในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้โดยเฉพาะในแง่ของการเลี้ยงดูบุตร โดยนโยบายที่ใช้ควรเป็นนโยบายเชิงลึก มีมิติที่กว้างและครอบคลุมกว่าการให้เงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียว การจัดหาสถานเลี้ยงดูเด็กของภาครัฐที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐานให้พ่อแม่วางใจได้ สถานเลี้ยงดูเด็กของภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป หรือการให้เงินสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับหน่วยงาน สถานประกอบการภาคเอกชนที่มีการจัดสรรสถานเลี้ยงดูเด็กในที่ทำงาน รวมถึงการสนับสนุนเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น น่าจะเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ในการกระตุ้นให้ผู้หญิงเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้ผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถจัดสรรเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐอาจจำเป็นต้องเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว การอยู่อาศัยร่วมกันหรือการอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ ดังเช่น Housing and Development Board ของประเทศสิงคโปร์ ที่มีนโยบายสนับสนุนผ่านการให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ (Proximity Housing Grant) เป็นต้น

บทความจาก

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
โดย ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*