ดร.ยรรยง ไทยเจริญ

EIC ประเมิน GDP ปี 2563 หดตัวน้อยกว่าคาดที่ -6.5% จากการฟื้นตัวของการบริโภคเอกชนในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ปี 2564 คาดเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.8% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการภาครัฐ และวัคซีน แต่ผลดีของวัคซีนต่อการท่องเที่ยวจะมาช่วงครึ่งหลังของปีเป็นหลัก ขณะที่แผลเป็นทางเศรษฐกิจในตลาดแรงงาน ธุรกิจ SME และหนี้ครัวเรือนจะเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจที่สำคัญ 

 

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ดีกว่าคาดในช่วงไตรมาส 3/2563 ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ ข้อมูล GDP ล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -6.4%YOY ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่น้อยกว่าที่ตลาดคาด เป็นผลจากการฟื้นตัวเร็วกว่าคาดของการบริโภคภาคเอกชนตามปัจจัยชั่วคราวของการมีวันหยุดเพิ่มเติมและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 4 EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการกลับมาระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกในช่วงปลายปี ขณะที่การระบาดในไทยที่เริ่มมีขึ้นอีกครั้งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศในระยะสั้นได้ ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวที่ -6.5% ดีขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -7.8%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวที่ 3.8% ซึ่งแม้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากฐานที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากในงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) จะยังคงกดดันการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน

ในส่วนของเม็ดเงินจากภาครัฐ คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีราว 9.8% นอกจากนี้ ยังมีวงเงินเหลือจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อีกประมาณ 5 แสนล้านที่รัฐสามารถใช้ได้ในปี 2564 ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 2 และให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมกับผู้ถือบัตรสวัสดิการ รวมถึงขยายเวลามาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่ารัฐยังพร้อมใช้มาตรการเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน

ส่วนภาคส่งออกของไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 4.7% ตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนและต้นทุนที่สูงขึ้นของตู้คอนเทนเนอร์โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า และแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตามทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปีหน้า ขณะที่การค้นพบวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจากหลายค่าย รวมทั้งการที่ไทยเป็นผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ทั้งนี้ EIC คาดว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เนื่องจากมีสัญญาซื้อล่วงหน้า ขณะที่ในกรณีประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มต้นได้รับวัคซีนที่จองซื้อไว้ในช่วงกลางปีและจะมีการฉีดอย่างแพร่หลายในช่วงครึ่งหลังของปี จึงทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวและประเทศปลายทางอย่างไทยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้ว ทั้งนี้ คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะอยู่ประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขปี 2562 ที่เกือบ 40 ล้านคนอยู่มาก นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากแผลเป็นเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย

1) ความเปราะบางของตลาดแรงงาน ได้แก่ การว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การทำงานต่ำระดับที่เพิ่มขึ้นมาก และการที่แรงงานจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีรายได้น้อยลง

2) การเปิด-ปิดกิจการที่ยังซบเซาต่อเนื่อง

และ 3) ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

“แผลเป็นทั้ง 3 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ทำให้แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในปีหน้า แต่ยังต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของภาครัฐค่อนข้างมาก และระดับ GDP ทั้งปีในปีหน้าก็จะยังต่ำกว่าระดับในปี 2562”

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 รวมทั้งใช้มาตรการเฉพาะจุดร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินและสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการจัดการกับหนี้เสีย ภาวะการเงินโดยรวมของไทยยังคงอยู่ในระดับผ่อนคลายจากการที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายด้านการชำระหนี้ให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในระยะต่อไป EIC คาดว่า ในด้านดอกเบี้ย ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดปี 2564 ควบคู่กับการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเมื่อจำเป็น เพื่อดูแลดอกเบี้ยในตลาดการเงินให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ (คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 0.9%) ขณะที่จะมีการปรับเงื่อนไขของมาตรการ Soft loan และการใช้เครื่องมือการค้ำประกันความเสี่ยงของ บสย. เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ตลอดจนการออกมาตรการเพิ่มเติมและปรับกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับค่าเงินบาท EIC คาดว่า มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2564 ค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าที่แม้จะดำเนินต่อไปแต่น่าจะลดความผันผวนลง และการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศที่อาจทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉลี่ย คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในปี 2564 (คาด 3.0% ของ GDP) เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังแข็งแกร่งจนทำให้เงินบาทถูกมองเป็นสกุลเงินในภูมิภาคที่ปลอดภัย รวมถึงพฤติกรรม home bias ของนักลงทุนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างน้อย ทั้งนี้มาตรการของ ธปท. ในการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกอาจไม่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงในระยะสั้นนัก เพราะการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศต้องอาศัยการปฏิรูปเพื่อลดข้อจำกัดในส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาษี กฎเกณฑ์ของหน่วยงานอื่น ๆ การให้ความรู้แก่นักลงทุนรายย่อย และการยกระดับความสามารถของสถาบันตัวกลาง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ประกอบด้วย

1) การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 และความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย

2) แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงินผ่านระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของภาคเอกชน

3) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน

4) ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

และ 5) เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่งซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

นอกจากนี้ ในระยะปานกลาง ต้องจับตาจำนวน Zombie Firm (ธุรกิจที่ขาดความสามารถในการทำกำไรเพื่อชำระดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวิกฤตในรอบนี้ จากการปรับตัวของธุรกิจที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค แต่สามารถอยู่รอดได้จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การกระจายทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลิตภาพในการผลิตและศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมลดลง

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*