ซีบีอาร์อีฯเผย โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการทำงานและการใช้ชีวิต    คาดครึ่งหลัง 64 ผู้ประกอบการไทยเร่งขับเคลื่อนการเติบโตด้านความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์ หวังยกระดับให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสูง
นายอาดัม เบลล์
นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด  เปิดเผย ว่า จากการที่จีนเป็นศูนย์กลางของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่ก็ยังมีผู้เล่นหลักรายอื่นๆ ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง   ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองก็พร้อมที่จะเติบโตในตลาดนี้

“แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงจะมีความน่าเชื่อถือในการให้บริการด้านธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ ในปัจจุบัน สิงคโปร์จำกัดจำนวนการพัฒนาพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ๆ โดยควบคุมการออกใบอนุญาตสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่อย่างเคร่งครัด” นายอาดัม กล่าว

นายอาดัม กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์พิเศษอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอจะช่วยจูงใจนักลงทุน    ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทยทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะขยายการให้บริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ไปยังประเทศที่อยู่โดยรอบ  นอกจากนี้ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor : EEC) ที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐนั้นยังตั้งอยู่ห่างจากสายเคเบิลใต้ทะเลเพียง 30 กิโลเมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 100 เมตร ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม

นอกจากนั้นการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นการปูทางไปสู่การมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Internet of Thing (IoT) ในประเทศไทย  จะมีการเปลี่ยนแปลงในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเนื่องจากต้องใช้แบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นมาก  ความหน่วง (Latency) ในระดับต่ำ  และมีการรองรับความหนาแน่นในการเชื่อมต่อ (Connection Density) ที่สูงขึ้น   ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการเปิดใช้งาน 5G จะต้องทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งในด้านการใช้งานและการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับความถี่ 5G

จากข้อมูลของแผนกวิจัยซีบีอาร์อีพบว่า ผู้เล่นรายใหญ่ อาทิ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ต่างกำลังคาดการณ์ว่า ความปกติใหม่หรือวิถีแบบ New Normal จะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตด้านความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์  การร่วมทุนของเฟรเซอร์สฯ กับเอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ จะทำให้มีพื้นที่ 30,000 ตารางเมตรในเฟสแรกสำหรับกลุ่มลูกค้าอย่างผู้ให้บริการคลาวด์ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และสถาบันการเงิน นอกจากนี้ บริษัท เคที คอร์ปอเรชั่น ของเกาหลีใต้ยังวางแผนที่จะค่อยๆ เข้าสู่ตลาดไทยภายในครึ่งหลังของปี 2564 และให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสูงแก่บริษัทคลาวด์ทั่วโลก

“เพื่อแข่งขันในตลาดนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว  ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมด้วยการพัฒนาความเชี่ยวชาญที่จำเป็นต่อการเปิดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และต่อการสร้างมาตรฐานระดับสูงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทย   และเนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์จำเป็นต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าและระบบประปาในระดับสูงและมีความเสถียร  จึงทำให้ผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานต้องรับประกันสาธารณูปโภคเหล่านี้   นอกจากนี้ ยังควรมีการนำนโยบายใหม่ๆ มาใช้เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศ   อย่างไรก็ตาม ดาต้าเซ็นเตอร์ยังเป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างใหม่และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในตลาด จึงยังต้องรอดูว่าศักยภาพสูงสุดและวัฏจักรของดาต้าเซ็นเตอร์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะเป็นอย่างไร” นายอาดัม กล่าวในที่สุด

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*