วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2563) เวลา 17.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ณ สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี   นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนจำนวนมาก เฝ้าฯ รับเสด็จ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลงสู่ชั้นออกบัตรโดยสารของสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย และเสด็จเข้าสู่บริเวณมณฑลพิธี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จากนั้น นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายบัตรโดยสารรถไฟฟ้าที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายบัตรโดยสารรถไฟฟ้าที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายพงษ์สฤษดิ์   ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายจานเบญจรงค์ที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จากนั้น นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายโต๊ะเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก ลำดับต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงานความเป็นมาของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” พร้อมทั้งน้อมเกล้าฯ ถวายแบบจำลองรถไฟฟ้าแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังแท่นพิธี  ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย อันเป็นสัญลักษณ์ของการสานต่อเส้นทางการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม) ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทยที่ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนมาเป็นเวลากว่า 16 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2547 และบัดนี้ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ จะได้ต่อขยายการเดินทางในระบบรางของประชาชนออกไปอย่างครอบคลุมและเชื่อมโยงสู่ศูนย์กลางเดียวกัน

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน  พระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “เฉลิมรัชมงคล” ซึ่งมีความหมายว่า งานเฉลิมความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยายนี้ เพื่อเป็นการรวมโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงินทั้งสายเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ นำมาซึ่งความปีติยินดีและเป็นสิริมงคลแก่รัฐบาล กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างหาที่สุดมิได้

ในวาระอันพิเศษนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จลงสู่ชั้น ชานชาลา และเสด็จเข้าประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เพื่อเสด็จฯ จากสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยเส้นทางการเดินรถไฟฟ้านี้จะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสนามไชยไปยังสถานีรถไฟฟ้าอิสรภาพ และเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับที่สถานีรถไฟฟ้า   ท่าพระจนถึงสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 12 นาที

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกจากสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง ทรงพระดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ บริเวณลานห้างเดอะมอลล์ บางแค ทรงโบกพระหัตถ์ แย้มพระสรวล และมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด นำมาซึ่งความปลื้มปีติแก่ราษฎรที่ได้มารอชื่นชมพระบารมี โดยทุกคนต่างสวมเสื้อสีเหลืองและเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องตลอดเส้นทาง จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

อนึ่ง : โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย เป็นโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม) ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ  ที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง และสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมีความต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างโครงการในปี 2554 เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับผสมแบบใต้ดิน ระยะทางรวมประมาณ 28 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร รวม 11 สถานี ประกอบด้วย โครงสร้างทางวิ่งแบบใต้ดิน ลักษณะเป็นทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับ ลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน ในช่วง ท่าพระ – บางแค ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจาก สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม)ฯ เป็นเส้นทางใต้ดินลอดตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับเข้าสู่สี่แยก  ท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามแนวถนนเพชรเกษม สิ้นสุดปลายทางที่ถนนกาญจนาภิเษก
  • ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร รวม 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมด ลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม)ฯ ผ่านแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “ฉลองรัชธรรม” (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค

รูปแบบสถานีรถไฟฟ้าของโครงการ มีโครงสร้าง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นระดับถนน (Ground Level) เป็นทางเข้า – ออก ของสถานี ชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse level) ภายในประกอบด้วยห้องออกบัตรโดยสาร เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติ และสามารถใช้เป็นทางเดินเชื่อมต่อไปยังอาคารข้างเคียงและอาคารจอดแล้วจรของโครงการได้ ชั้นชานชาลา (Platform Level) สำหรับขบวนรถไฟฟ้าจอดรับ – ส่งผู้โดยสาร ซึ่งในโครงการมีทั้งรูปแบบชานชาลากลาง สำหรับผู้โดยสารทั้งสองฝั่งใช้ชานชาลาร่วมกัน รูปแบบชานชาลาข้าง แยกผู้โดยสารเป็น 2 ฝั่งของแนวรถไฟฟ้า และรูปแบบชานชาลาซ้อน แบ่งชานชาลาเป็น 2 ชั้น ในสถานีที่มีพื้นที่ก่อสร้างจำกัด โดยทุกสถานีจะติดตั้งประตูกระจกอัตโนมัติกั้น  ที่ชานชาลาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารพลัดตกรางในระหว่างรอรถไฟฟ้า รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานีรถไฟฟ้าครบครัน เช่น บันไดเลื่อน ลิฟต์โดยสาร ทางลาด ห้องน้ำ ฯลฯ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้โดยสารทุกประเภท

นอกจากนี้ โครงการมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง จำนวน 2 อาคาร แบ่งเป็นอาคารจอดรถ 10 ชั้น (ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าท่าพระ) รองรับรถยนต์ได้ 650 คัน และอาคารจอดรถ 8 ชั้น (ฝั่งขาออก มุ่งหน้าพุทธมณฑล  สาย 4) รองรับรถยนต์ได้ 350 คัน เพื่อให้ผู้โดยสารนำรถยนต์มาจอดและเดินทางต่อด้วยระบบรถไฟฟ้าได้โดยสะดวก รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า 1 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าเพชรเกษม 48 ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ กลุ่มอาคารซ่อมบำรุง สำนักงานบริหารและจัดการ โรงจอดรถไฟฟ้าและรางทดสอบ

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย   รฟม. ได้นำองค์ความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ และธรณีวิทยา รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล เข้ามาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้าง อาทิ การใช้เทคโนโลยีนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร อยู่ลึกจากระดับผิวน้ำ 30 เมตร (ลึกจากใต้ท้องแม่น้ำ 7 เมตร) และถือเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย การใช้โครงสร้างอุโมงค์แบบ Pipe Roof แทนการใช้วิธี ขุดเจาะแบบเปิดผิวถนน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรในระหว่างก่อสร้าง และเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากแนวเส้นทางและตำแหน่งที่ตั้งสถานีของโครงการอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้กลมกลืนกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าวัดมังกร สถานีรถไฟฟ้าสามยอด สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย และสถานีรถไฟฟ้าอิสรภาพ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าไว้ จนได้รับการชื่นชมว่า เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่สวยที่สุดของประเทศไทย

จากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถเปิดให้บริการส่วนต่อขยาย ช่วงที่ 1 สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ – สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน ได้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ช่วงที่ 2 สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง – สถานีรถไฟฟ้าหลักสอง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562 และช่วงที่ 3 สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน – สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามลำดับ ทำให้โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย  “เฉลิมรัชมงคล” มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมรองรับการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานคร และยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงการทางเดินสู่ปริมณฑลได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมของประเทศ รฟม. จะยังคงมุ่งมั่นสานต่อการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่าย ขยายการเดินทางได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่   ส่งมอบการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้แก่ประชาชน และยังเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรด้วยการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลพิษทางอากาศจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดความแออัดของเมืองด้วยการขยายความเจริญ   ออกจากศูนย์กลาง อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนช่วยส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดตามข่าวสาร รฟม.ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th เฟซบุ๊กแฟนเพจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*