REIC คาดตลาดอสังหาฯภาคเหนือปี’64 มีหน่วยเหลือขายสะสมทั้งปีจำนวน 15,721 ยูนิต มูลค่า 58,247 ล้านบาท ชี้จังหวัดเชียงใหม่ยังคงเป็นพื้นที่น่าลงทุนมากที่สุดผู้บริโภคในท้องถิ่นและชาวต่างชาติยังคงให้ความสนใจ ห่วงสต๊อกบวมเพิ่มหากผู้ประกอบการเติมสินค้าไม่ถูกเวลา

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และตาก) ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเหลือขายสูงขึ้นจากปี 2563 ประมาณการหน่วยเหลือขายสะสมปี’64 จำนวน 15,721 ยูนิต มูลค่ารวม 58,247 ล้านบาท โดยหน่วยเปิดขายใหม่มีทิศทางปรับตัวกลับมาเป็นบวกในครึ่งหลังปี’64 ที่อัตรา 31.9% สำหรับหน่วยเปิดขายใหม่ครึ่งแรกปี’64 จำนวน 1,574 ยูนิต มูลค่า 4,920 ล้านบาท และ ครึ่งหลังปี’64 จำนวน 1,880 ยูนิต มูลค่ารวม 6,006 ล้านบาท เช่นเดียวกับหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่คาดการณ์ว่าครึ่งหลังปี’64 จะกลับมาบวกในอัตรา 22.5% หลังจากที่หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ติดลบตลอดระยะเวลา 5 Half จำนวนหน่วนโอนกรรมสิทธิ์รวมสะสม 10,404 ยูนิต มูลค่ากว่า 18,725 ล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงอัตราการดูดซับ บ้านจัดสรรมีแนวโน้มใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ 2.2% ในขณะที่อาคารชุดมีค่าเฉลี่ย 3.1% อัตราการดูดซับต่ำกว่าโดยอยู่ในอัตราเพียง 1.8% เท่านั้น

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มสินค้าสต๊อกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี’63 โดยคาดการณ์ว่าปี’64 จะมีสต๊อกเหลือขายสะสมจำนวน 10,272 ยูนิต มูลค่ารวม 41,868 ล้านบาท เป็นผลมาจากแนวโน้มการเปิดโครงการใหม่ในปีหน้า 2564 มีมากขึ้น โดยมีหน่วยเปิดใหม่กลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังปี’64 ในอัตรา 35.6% สต๊อกสินค้าที่ถูกเติมเข้าไปหากไม่ถูกช่วงเวลาจะส่งผลให้เกิดการบวมของจำนวนหน่วยเหลือขายสะสมสูงในปี 2564 ตลาดอสังหาฯเชียงใหม่ยังเป็นตลาดที่ดีที่สุดของภาคเหนือเหมาะแก่การลงทุนมากที่สุด ตลาดยังคงดำเนินไปได้แรงขับเคลื่อนของดีมานด์ในท้องถิ่นยังมี หลังการเปิดประเทศชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน มีการบริการจัดการทางด้านสุขภาวะอนามัย จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตลาดดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

ด้านนายอรรคเดช อุดมศิริธำรง ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท อรสิริน โอลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดกำลังซื้อต่างชาติหายไปจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กำลังซื้อในพื้นที่ยังคงมีอยู่ แม้ซื้อจะหดตัวไปมากก็ตาม จำนวนซัพพลายใหม่ที่เข้ามาในตลาดยังคงมีน้อย ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ยังคงเป็นที่สนใจต่อทั้งคนในพื้นที่ นักลงทุน รวมทั้งชาวต่างชาติ การตัดสินใจซื้ออสังหาฯผู้บริโภคต้องการเห็นสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ ลูกค้าต้องการซื้อสินค้าแต่ด้วยข้อจำกัดจากการขาดรายได้ไปในช่วงระยะเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการยื่นกู้ธนาคารที่ทำให้ถูกปฏิเสธทำให้อัตราการซื้อขายลดน้อยลง การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายจึงเป็นการช่วยเหลือที่สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อยังคงมีอยู่

ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าแต่สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การจัดแคมเปญลดราคาช่วยให้เป็นการรักษากระแสเงินสด สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อในตลาดยังมีเพียงแต่ลูกค้ารอซื้อของถูก ยอมขายสินค้าในราคาที่ถูกลงประมาณ 10% เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

สอดรับกับนายปราชญ์ วงศ์วรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยถึงตลาดแนวราบของพื้นที่เชียงใหม่ยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี ทาวน์โฮมและบ้านแฝดมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นจากที่ดินที่มีมูลค่าสูงขึ้น และถูกจำกัดพื้นที่จากผังเมืองเชียงใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ ส่งผลต่อผู้บริโภคที่เริ่มหันมาสนใจสินค้าที่มีราคาถูกลงเป็นตัวเลือกของการอยู่อาศัย

ขณะที่นางอัญชนา วัลลิภากร ประธานเจ้าบริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ประเภทบ้านระดับราคา 1-2 ล้านบาท ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 2% ขณะที่ทาวน์โฮมและคอนโดมิเนียมระดับราคา 5-7 ล้านบาท ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 12% และ 34% ตามลำดับ โดยพื้นที่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดได้แก่ทำเลสุเทพ 6.56% หากเปรียบเทียบรายพื้นที่ทำเลที่มีแนวโน้มการเติบโตการเลือกอยู่อาศัยมากที่สุดคือทำเลสันทรายน้อย คิดเป็นอัตรา 85% ขณะที่บ้านและทาวน์โฮมที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือแบบ 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ในอัตรา 31% และ 46% ตามลำดับ คอนโดมิเนียมในรูปแบบ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ + สตูดิโอ ยังคงได้รับความสนใจมากถึง 46%

พื้นที่จังหวัดเชียงราย คาดการณ์มีจำนวนหน่วยเหลือขายรวมสะสมปี’64 จำนวน 2,113 ยูนิต มูลค่า 7,254 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยโดยมีค่าเฉลี่ยที่ 1,965 ยูนิต เนื่องจากมีแนวโน้มการเปิดโครงการใหม่ในปี’64 ค่อนข้างน้อยในอัตรา 24.3% ส่งผลให้จำนวนหน่วยเหลือขายไม่น่ากังวล

จังหวัดตากตลาดอยู่ในเกณฑ์ปกติ คาดการณ์จำนวนหน่วยเหลือขายปี’64 จำนวน 667 หน่วย มูลค่ารวม 1,992 ล้านบาท หน่วยเปิดใหม่สะสมปี’64 จำนวน 51 หน่วย มูลค่า 109 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มอัตราการขายได้กลับมาเป็นบวกในครึ่งหลังปี’64 ในอัตรา 33.3%

จังหวัดพิษณุโลกอาจเกิดการบวมของสต๊อกเนื่องจากอัตราการดูดซับค่อนข้างต่ำ มีจำนวนหน่วยเหลือขายสะสมสูงตั้งแต่ครึ่งแรกปี’63 โดยคาดว่าจะมีหน่วยเหลือขายสะสม 2,669 ยูนิต มูลค่า 7,134 ล้านบาท การเปิดตัวโครงการใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดการณ์ปี’64 มีจำนวนเปิดขายใหม่ 161 ยูนิต มูลค่า 400 ล้านบาท ในขณะที่ค่าเฉลี่ย มีจำนวน 202 ยูนิต

นายมงคล เหลี่ยมวัฒนกุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึง ตลาดอสังหาฯพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 น้อยมาก เนื่องจากตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการและผู้อยู่อาศัยในจังหวัดใกล้ๆที่เข้ามาซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง ยอดขายดีขึ้นกว่าปี 2562 ราว 5% – 10% ราคาที่ดินปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยจากแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ที่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม รวมทั้งรถไฟฟ้าภายในเมืองพิษณุโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในตลาดพิษณุโลกทำได้ยากเนื่องจากความไม่สมดุลกันระหว่างราคาที่ดินและกำลังซื้อของผู้บริโภคในพื้นที่ ทำให้การผลิตสินค้าในราคาที่ตอบโจทย์ตลาดไม่สอดรับระหว่างกัน ทาวโฮมเป็นตลาดการขายที่ดำเนินไปได้ช้าการปรับปรุงเพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในแง่ของฟังก์ชันการออกแบบ ดีไซน์และพื้นที่ใช้สอย ช่วยให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจซื้อมากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงตลาดที่อยู่อาศัยภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และตาก) ตลาดอสังหาฯหาเชียงใหม่ยังคงน่าลงทุนมากที่สุด จำนวนสต๊อกที่ถูกเติมเข้าในพื้นที่เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพียงแต่ผู้ประกอบต้องมองเห็นเวลาและจังหวะที่ดีของการทำธุรกิจ แรงขับเคลื่อนทั้งในพื้นที่และชาวต่างชาติยังคงให้ความสนใจ การบริหารจัดการด้านสุขภาวะจะเป็นแรงส่งให้ตลาดอสังหาฯเชียงใหม่เดินหน้าต่อได้ด้วยดี

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*