สภาสถาปนิกผนึกอารยะ เอ็กซ์โป หวังเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้างประกาศจัดงาน WACT FORUM ’20 Design + Built” ระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. 63 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ล่าสุดผู้ร่วมออกบู๊ธเช่าเต็มพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรแล้ว คาดผู้เข้าร่วมชมงานประมาณ 30,000 คน
นายประกิต พนานุรัตน์
นายประกิต พนานุรัตน์ กรรมการ สภาสถาปนิก ในฐานะประธานจัดงาน “ACT FORUM ’20 Design + Built” เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่กินเวลามาเกือบหนึ่งปีเต็ม ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.29 ล้านล้านบาท (ที่มา : Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์) และผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นในวงกว้างซึ่งไม่อาจประเมินความเสียหายได้ นั่นจึงทำให้สภาสถาปนิกต้องเร่งทำให้อุตสาหกรรมนี้กลับมาฟื้นตัวขึ้นโดยเร็ว ล่าสุดได้เตรียมจัดงาน  “ACT FORUM ’20 Design + Built” ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานที่รวบรวมเรื่องราวองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมทุกสาขา ทั้งสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง รวมถึงเทรนด์ด้านการออกแบบ และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างจากแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศไว้อย่างครบครัน

“การจัดงานในปีนี้ถือได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของสถาปนิกและนักออกแบบที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีโจทย์ใหม่ๆ ในการออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโรคระบาด ไม่ใช่แค่เรื่องที่อยู่อาศัย แต่รวมถึงพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อย่างโรงพยาบาล สวนสาธารณะ ผังเมือง หรือแม้แต่เรือนจำ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่วงการกำลังให้ความสำคัญ เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียนกับความยั่งยืน การจัดการกับพื้นที่หรือสิ่งก่อสร้างทิ้งร้างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเมื่อการออกแบบเปลี่ยนไป ฝั่งผู้ประกอบการด้านวัสดุก่อสร้างเองก็มีความท้าทายในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนด้วย งานในปีนี้เราจึงมีเป้าหมายที่จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ แบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่างคนในวิชาชีพสถาปนิก นักออกแบบ ก่อสร้าง และร่วมกันส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปสู่สังคม เพื่อแบ่งเบาวิกฤตที่เราต้องเผชิญด้วยกัน และท้ายที่สุดเพื่อก่อให้เกิด “ความสุข” อันเป็นเรื่องพื้นฐานของความเป็นมนุษย์” นายประกิต

ทั้งนี้งานดังกล่าวจะมีวิทยากรระดับโลกมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ อาทิ Kate Orff, Jon Charles Coe, Marina Tabassum, Lyndon Neri, Jan Gehl รวมทั้งวิทยากรสัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ อาทิ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ,นายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล ,นายพงษ์เทพ สกุลคู ,นายรุสลัน โตะแปเราะ และนายกชกร วรอาคม นอกจากนี้ยังมีวิทยากรอีกกว่า 40 ท่าน ที่จะมาร่วมส่งมอบประสบการณ์ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ ตลอด 5 วัน ของการจัดงาน ในหัวข้อที่น่าสนใจที่ครอบคลุมทุกด้านทั้งการออกแบบ การฟื้นฟู การบริหารจัดการ ธุรกิจ กฎหมาย ทักษะแห่งอนาคต เช่น Landscape and Urban Planning Architect,  สถาปนิกในยุค New Normal, นวัตกรรมวิถีใหม่ในโรงพยาบาล, การออกแบบโรงแรมและคอนโดมิเนียมในยุค COVID-19, สถาปนิกจบใหม่..ทำอะไรดี, ประสบการณ์การบริหารสำนักงานสถาปนิกภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ, การทำประกันภัยวิชาชีพ, ออกแบบอย่างไรไม่ให้ถูกฟ้อง, การพัฒนาวิชาชีพและการขอเลื่อนระดับ, Urban Management เมืองมรดกโลกไทย, เสน่ห์และศักยภาพของพื้นที่ชุมชนขนาดเล็ก, สถาปนิกผังเมืองกับการจัดผังเมืองในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส, การปลูกป่ากลางเมืองเรื่องที่ทำได้จริง, World Environmental Design, Modular House, Biotechnology Design, Proxemics Diagram For Architects, เรือนจำกับแนวทางพ้นวิกฤติความหนาแน่น, การชุบชีวิตของโครงสร้างทิ้งร้างของเมือง, คุณภาพชีวิตใหม่ในบ้านพักคนงาน, การตรวจสอบแก้ไขอาคารเก่าและส่วนต่อเติม, ผู้ตรวจสอบประเมินอาคารอนุรักษ์พลังงาน, Circular Economy in Architecture, Service Design กับสถาปนิก, ผ่านร้อนผ่านหนาว ด้วยการบริหารองค์กรแบบมืออาชีพ ฯลฯ

“งานนี้มีจุดเด่นคือ เป็นงานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรม และแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ครอบคลุมทั้ง 4 สาขาวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง สำหรับงานในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง หลังจากการจัดงานในปีแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 25,000 ราย และได้รับความสนใจจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกว่า 300 ราย จาก 30 ประเทศทั่วโลกที่ตอบรับเข้าร่วมจัดแสดงสินค้า” นายประกิต กล่าว

นายศุภแมน มรรคา

ด้านนายศุภแมน มรรคา ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท อารยะ เอ็กซ์โป จำกัด ผู้จัดงาน “ACT FORUM ’20 Design + Built” กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ยังคงความเข้มข้นครบเครื่อง ทั้งผู้ที่นำสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ มาร่วมออกบู๊ธกว่า 300 ราย บนพื้นที่จัดงาน 20,000 ตารางเมตร ที่เตรียมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมาเปิดตัวและประชันโฉมภายในงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยลดการสัมผัสและลดการใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างภายใต้คอนเซปต์ New Normal Technologies เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยในยุควิถีใหม่ อาทิ

-การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายใต้คอนเซปต์ “NEW LIGHT FOR NEW NORMAL” จากบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

-การเปิดตัววัสดุปิดผิวลามิเนต ภายใต้คอนเซปต์ “EXPLORE THE NATURE” จากบริษัท วิลสันอาร์ท ประเทศไทย จํากัด

-การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองผู้ใช้ยุคใหม่ทั้งด้านดิจิตอลและชีวิตวิถีใหม่ จากบริษัท เฮเฟเล่ (ประเทศไทย) จำกัด

-การประชันเทคโนโลยีเครื่องมือช่างจาก Makita และ Milwaukee ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นและอเมริกา ที่จะมาเปิดตัวแบตเตอรี่ใหม่ในงานนี้โดยเฉพาะ

นอกจากไฮไลท์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่กล่าวมาแล้ว ในปีนี้ได้มีการพัฒนารูปแบบการจัดงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ

-เวทีสัมมนาในรูปแบบ Hybrid Conference ครั้งแรกในปีนี้

-การยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยและสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน

-การเปิดตัว ACT FORUM Digital Showroom เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจบนโลกออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ก่อสร้างควบคู่กับการจัดงานแบบออฟไลน์ โดยได้รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์และผู้ให้บริการด้านวัสดุก่อสร้างและออกแบบไว้อย่างครบครัน

โดยคาดว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูอุตสาหกรรมก่อสร้างให้กลับมาดีขึ้น และช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยหลังจากที่ทรุดหนักไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นงานที่ช่วยผลักดันให้สถาปนิก นักออกแบบของไทย สามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่ระดับสากลได้ ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมออกบู๊ธเต็มพื้นที่แล้ว ซึ่งมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10-20% ในขณะที่ราคาบู๊ธไม่ต่างจากปี 2562 ที่ผ่านมาแต่อย่างใด ประมาณ 5,500-7,000 บาท/ตารางเมตร  คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานประมาณ 30,000 คน และผู้เข้าชมงานจะเป็นกลุ่มวิชาชีพต่างๆ สัดส่วน 75% และกลุ่มเจ้าของบ้าน สัดส่วน 25%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*