“Any company that cannot imagine the future won’t be around to enjoy it”
ถ้าองค์กรไหนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าอนาคตคืออะไร มันน่าเสียดายที่องค์กรนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ถึงในอนาคต นั่นคืออาจสูญหายไปเลยก็ได้

คำฝากทิ้งท้ายจากงานแถลงข่าวเปิดตัว FutureTales Lab ของ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ตระหนักและให้ความสำคัญถึงการวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

FutureTales Lab ศูนย์วิจัยอนาคตศาสตร์ที่มองไปทางอนาคต อนาคตเป็นสิ่งที่ต้องสร้างร่วมกัน นอกเหนือจากเป็นพื้นที่ที่สร้างองค์ความรู้แล้วยังเป็นพื้นที่ที่คิดเพื่ออนาคตร่วมกันทั้ง ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ ผ่าน 3 เรื่องสำคัญได้แก่

1เปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของมนุษย์ต่อเรื่องการเตรียมการสู่อนาคต (Evolution)

2แลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูล เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ (Exchange Knowledge and Data)

3สร้างความร่วมมือ เครือข่าย และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Engagement)

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) แห่งนี้ เป็นศูนย์วิจัยที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อศึกษางานวิจัย และสถานการณ์แนวโน้มในอดีต ปัจจุบัน วิเคราะห์คาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผ่านการติดตาม และอัพเดทข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลก ด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล มาทำการวิเคราะห์ คาดการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่าง Earth Pulse แพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล อากาศ พื้นดิน น้ำแข็ง และสิ่งมีชีวิต โดยได้ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก ได้แก่ ARUP Foresight + Innovation จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรในระดับประเทศ อาทิ สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงพันธมิตรผู้สนใจด้านอวกาศ เช่น Space Zab และ SPACETH เป็นต้น เพื่อสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุมของมนุษยชาติ กับนักอนาคตศาสตร์ทั่วโลก และระดับองค์กรต่างๆเพื่อนำไปสู่การสร้างอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกัน

แนวคิดสำคัญที่เป็นสโลแกนหลักของ MQDC “For All Well-Being” ความยั่งยืนที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผ่านวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นแต่รวมถึงชีพจรของโลกที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกคน โดยมี 6 กิจกรรมหลักที่ครอบคลุมถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ได้แก่ การอยู่อาศัย LIVE การทำงาน Workการเรียนรู้ LEARN การเล่น PLAY การเคลื่อนที่ หรือการเดินทาง MOVE การสร้างความยั่งยืนสู่อนาคต SUSTAIN

โดยเปิดพื้นที่นิทรรศการเพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้ความรู้ผ่านการมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) จำนวน 3 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 : Data Platform ประกอบด้วย 2 ส่วนนิทรรศการ ได้แก่ Earth Pulse มองโลกในมิติแห่งความเชื่อมโยง จับตาดูชีพจรของโลกในทุกแง่มุมทั้งบนดิน ใต้น้ำ และสภาวะอากาศ เชื่อมโยงทุกสถิติที่น่าสนใจ และ Bangkok Next Tales รู้จักและเข้าใจเมืองหลวงของเราในหลากหลายมิติจากข้อมูลที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนจากที่ไหน ๆ

โซนที่ 2 : Future Living Interactive Gamification ประกอบด้วย 6 ส่วนนิทรรศการ ได้แก่ Future City Vision เรียนรู้ปัญหาและวิกฤตของโลกที่ทำให้ทุกประเทศต้องหันมารับมือ สร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงตัวเอง สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ผ่านพิมพ์เขียวเมือง (City Blue Print) Journey of Waste ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ของปริมาณขยะในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต วิธีการแยกขยะและกำจัดขยะที่มีถูกต้อง Future Mobility การเดินทางในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพและเมืองที่อยู่อย่างไร มีการเปรียบเทียบการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ของอนาคต ในระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ผลกระทบต่อสุขภาพ และเมืองที่ดีกว่าเดิม Create your City คือฐานพัฒนาเมืองของตัวเองภายใต้แกนการพัฒนาเมือง 12 แกน โดยจะแบ่งออกเป็น 7 แกนเรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และ 5 แกนเรื่องการสร้างความสุขให้กับผู้อาศัย (Happy City) Future Habitat สะท้อนเอกลักษณ์และรูปแบบของ Future Living ที่เหมาะสมกับแต่ละคน พร้อมสำรวจรูปแบบและเทรนด์ของ Future Living ที่น่าสนใจ Your Urbanite ผู้เล่นจะได้รับคาแรคเตอร์ตามจุดเด่นของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งประมวลผลผ่านแอปพลิเคชัน ตามทฤษฎีของ Carl Jung จิตแพทย์ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาการวิเคราะห์ และ George Ivanovich Gurdjieff จิตแพทย์ชาวรัสเซีย

โซนที่ 3 : Space Exploration ประกอบด้วยส่วนนิทรรศการ Space Exploration ให้ความรู้ด้านอวกาศ ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศไทย รวมถึงแนวความคิดของการที่จะไปอยู่อาศัยในดาวดวงใหม่ และการจำลองการปลูกต้นไม้ในโลกและปลูกด้วยเครื่องจำลองแรงโน้มถ่วง

ทั้งนี้ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) จะเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*