วันนี้ (28 สิงหาคม 2563)  ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 2 ชั้น 4 กระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม (กลาง) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่าง นายนิรุฒ  มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง โดยมี นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายพรเจริญ ธนานาถ ผู้แทนจากบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีโครงข่ายคมนาคม ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในโครงการที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างทางบก ทางราง และทางอากาศ ได้อย่างไร้รอยต่อ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่เขตทางของกรมทางหลวงในการก่อสร้าง ซึ่งทางกรมทางหลวงมีความยินดียิ่งที่จะส่งมอบพื้นที่ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อใช้ในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วันนี้จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการร่วมมือกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศให้มีให้มีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลว เปิดเผยว่ากรมทางหลวงมีความยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สร้างรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งภายหลังการใช้พื้นที่กรมทางหลวงแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะต้องดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม แก้ไข พื้นผิวการจราจร ระบบระบายน้ำต่าง ๆ ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงส่งมอบทางคืนให้กับกรมทางหลวงต่อไป

ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงสำหรับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงบางส่วนเพื่อดำเนินการ ซึ่งการรถไฟฯ ต้องขอบคุณกรมทางหลวงที่อนุญาตให้โครงการฯ สามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่ เพื่อพัฒนาโครงการฯ ได้

นายนิรุฒ มณีพันธ์

ทั้งนี้ การรถไฟฯ จะดำเนินการในพื้นที่ของกรมทางหลวงอย่างเหมาะสม และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงอย่างเคร่งครัดและส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจร ผู้ใช้ทางและคนเดินเท้าให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งหลังจากลงนามข้อตกลงกันแล้ว การรถไฟฯ และกรมทางหลวง จะแต่งตั้งคณะทำงานตามกฎหมาย เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง โดยคณะทำงานทั้งสองคณะจะประชุมร่วมกันอย่างน้อยทุก 2 เดือน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 220 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*