28 ปี รฟม. มุ่งมั่น ทุ่มเท พัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พร้อมยังเตรียมจะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และรองรับการเดินทางของประชาชน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง  ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล   ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

วันนี้ (21 สิงหาคม 2563) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม. ครบรอบ 28 ปี โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. คณะผู้บริหาร รฟม. และพนักงาน รฟม. เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ณ อาคารสำนักงาน รฟม. ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ คณะผู้บริหาร รฟม. ยังได้มอบรางวัลให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานเป็นเวลา 15 ปี 20 ปี และ 25 ปี และมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรธิดาพนักงาน รฟม. รวมถึงจัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนของโรงเรียนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม.

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2535 มีภารกิจในการสร้างโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยในปลายปี 2562 ที่ผ่านมา รฟม. ได้มอบของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับประชาชนด้วยการเปิดให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เส้นทางจากสถานีหัวลำโพงไปยังสถานีหลักสอง และจากสถานีเตาปูนไปยังสถานีท่าพระ โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม ซึ่งทั้งสองช่วงนี้ได้เติมเต็มเส้นทางให้บริการเดิมของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ช่วงหัวลำโพง – เตาปูน เป็นแบบวงกลม (Circle Line) ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร และฝั่งธนบุรี ได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย อีกทั้งผู้โดยสารยังสามารถใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร  สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ช่วงคลองบางไผ่ – เตาปูน เพื่อเดินทางเชื่อมต่อไปยังปริมณฑล จ.นนทบุรี ได้อีกด้วย

ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) นี้ รฟม. ยังได้สร้างประวัติศาสตร์การก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย รวมทั้งมีสถานีรถไฟฟ้าที่สวยที่สุดในประเทศ โดยออกแบบสถาปัตยกรรมภายในสถานีให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตดังเดิมของพื้นที่โดยรอบ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีอิสรภาพ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เดินทางมาใช้บริการรถไฟฟ้าและสัมผัสความสวยงามของสถานีรถไฟฟ้า จึงถือได้ว่ารถไฟฟ้าสายนี้เป็นรถไฟฟ้าสายวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ รฟม. ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต แล้วเสร็จ และส่งมอบให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมกันนี้ รฟม. ยังได้เดินหน้าขยายความสุขอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในความรับผิดชอบสายอื่นๆ ให้เป็นไปตามแผนงาน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยทั้ง 2 โครงการ มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2565 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งโครงการนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2569 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก  ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2567

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการที่ รฟม. เตรียมจะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และรองรับการเดินทางของประชาชน ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง  ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล   ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตภูมิภาคนั้น รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมให้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าในเมืองหลักภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ (สายสีแดง) ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี  คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571 โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา (สายสีเขียว) ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก (สายสีแดง) ช่วง ม.พิษณุโลก – ห้างเซ็นทรัลฯ พิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571

ทั้งนี้ รฟม. ยังตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาสังคม และการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยจัดกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) ในแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ อาทิ กิจกรรมมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชน กิจกรรมอบรมมอบความรู้เกี่ยวกับการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นและการดับเพลิงเบื้องต้น การจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพ ผลิตภัณฑ์ บริการ และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในเส้นทางรถไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่สำคัญของ รฟม. ที่มุ่งมั่นพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าเพื่อขยายความสุขในการเดินทางของคนเมืองและภูมิภาค พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้ง ล้อ เรือ ราง เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการใช้บริการขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกทุกรูปแบบ ตามนโยบายของรัฐบาล อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*