สนข.เปิดเวทีรับฟังแนวคิดและความเห็นประชาชนในจังหวัดชลบุรี ตามแผนพัฒนาเมืองต้นแบบ TOD ชลบุรีส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ EEC และศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกในพื้นที่ 6 โซนหลัก

 

วันนี้ (14 สิงหาคม 2563 ) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมพิมาน โรงแรม แกรนด์ พาลาสโซ่ เมืองพัทยา จ.ชลบุรีนายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การสัมมนาผู้ลงทุน (Market Sounding) ในวันนี้ เป็นการสัมมนาเพื่อสรุปผลการศึกษาในพื้นที่เมืองต้นแบบ จังหวัดชลบุรี โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้”

นายเริงศักดิ์ ทองสม

จังหวัดชลบุรี มีศักยภาพและความพร้อมในการเป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาค” เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ที่สามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยที่กระจายความเจริญสู่เมืองหลักในภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาเมือง TOD พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยา จังหวัดชลบุรี กำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็น “เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ศูนย์กลาง EEC เมืองสภาพแวดล้อมดีสำหรับทุกคน”

ทั้งนี้ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยา มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ “ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา” ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินผสมผสาน และสร้างสรรค์กิจกรรมภายในเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ ผสานความเป็นเมืองระดับโลกกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และเอื้อต่อการขยายตัวของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตในเมืองอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

นายเริงศักดิ์ กล่าวTransit Oriented Development: TOD คือ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่เมืองโดยรอบศูนย์เปลี่ยนถ่ายหรือสถานีขนส่งมวลชน ที่มีความกระชับ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน เน้นการเดินเท้าและการปั่นจักรยานในระยะ 400-650 เมตร และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

สำหรับแนวคิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บริเวณพื้นที่รอบสถานีรถไฟพัทยา เน้นเปิดศักยภาพของพื้นที่ มีสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ปี 2564-2565 ระยะสั้น ปี 2566-2570 ระยะกลาง ปี 2571-2575 และระยะยาว ปี 2576-2580 โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาตามแนวทางของ TOD เป็น 6 โซน ได้แก่

  • โซนที่ 1 MICE City พัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานพาณิชยกรรมรองรับศูนย์กลางการค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้สถานี เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์การประชุมสัมมนา เพื่อบริการนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางมาติดต่อธุรกิจ
  • โซนที่ 2 Livable City พื้นที่การพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น อพาร์ตเมนต์ใช้เช่า คอนโดมิเนียม หรือบ้านจัดสรร ด้วยรูปแบบการสันทนาการที่ทำเพิ่มศักยภาพการอยู่อาศัยให้ดีขึ้น
  • โซนที่ 3 Creativity Economy พื้นที่พัฒนาย่านพาณิชยกรรมในลักษณะอาคารสำนักงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และบริการแบบครบวงจร
  • โซนที่ 4 Active District พื้นที่พัฒนาย่านพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน มีทั้งศูนย์การค้า ศูนย์ค้าปลีก รวมถึงธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ เช่น Start up ธุรกิจดิจิตอล
  • โซนที่ 5 Park Society เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่นันทนาการ รองรับนักท่องเที่ยวที่มาประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) หรือคนในชุมชนที่มาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ทุกเพศทุกวัย
  • โซนที่ 6 Society District พื้นที่สนับสนุนกิจกรรมรวมถึงธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ เช่น ศูนย์การแพทย์และบริการด้านสาธารณสุข และศูนย์การเรียนรู้และการศึกษา เป็นต้น เป็นต้นแบบของนวัตกรรมใหม่ที่จะส่งเสริมให้เมืองพัทยาน่าสนใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สนข. จะประมวลผลการศึกษา 3 เมืองต้นแบบ TOD ทั้งจังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเดินทางที่มีศักยภาพ สนับสนุนศักยภาพเมืองให้น่าอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเป็นรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*