สนข. จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม (คค.) จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง จังหวัดระยอง โดยมีนายยุทธพล องอาทอิทธิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะ ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และสื่อมวลชน เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 120 คน

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดย สนข. ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รูปแบบการลงทุน และวิธีการนำไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วยภาพรวมการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐาน 2) ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยงระบบหลักและแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างเมืองในเขตเมือง และ 3) ระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมย่อยในเขตเมืองหรือพื้นที่อยู่อาศัยเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายรอง มีองค์ประกอบของระบบขนส่งสาธารณะ ประกอบด้วย โครงข่ายเส้นทางและตัวระบบ สาธารณูปโภคสนับสนุน ระบบตั๋วและค่าโดยสาร สิ่งแวดล้อมและการยอมรับของประชาชน การลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงการบริหารจัดการ ซึ่งเป้าหมายของระบบขนส่งสาธารณะ ต้องมีความสะดวกเข้าถึงง่าย ปลอดภัย พัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และมีความคุ้มค่า ทั้งนี้ ในส่วนของรูปแบบระบบขนส่งสาธารณะแบ่งเป็น ช่องทางเฉพาะ (Exclusive Lane) และช่องทางร่วมกับรถทั่วไป (Shared Lane) โดยมีแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะที่เสนอในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ดังนี้

แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ –ตะวันออกคอมเพล็กซ์ แนวเส้นทางที่ 2 HSR ฉะเชิงเทรา-วัดโสธรฯ แนวเส้นทางที่ 3 รอบเมืองฉะเชิงเทรา แนวเส้นทางที่ 4 HSR ฉะเชิงเทรา-บางคล้า และแนวเส้นทางที่ 5 HSR ฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์-บางปะกง โดย สนข. ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ–ตะวันออกคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการนำร่อง

แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 HSR ชลบุรี – เมืองชลบุรี-(นิคมฯ อมตะซิตี้ชลบุรี) แนวเส้นทางที่ 2 HSR ชลบุรี-บางแสน/ตัดช่วง HSR ชลบุรี-หนองมน แนวเส้นทางที่ 3 HSR ชลบุรี-บ้านบึง-EECi แนวเส้นทางที่ 4 HSR ศรีราชา-แหลมฉบัง แนวเส้นทางที่ 5 HSR ศรีราชา-EECd แนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมฯ อมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) แนวเส้นทางที่ 7 HSR พัทยา-แหลมบาลีฮาย และ แนวเส้นทางที่ 8 HSR พัทยา-สวนนงนุช โดย สนข. ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมฯ อมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) เป็นโครงการนำร่อง

แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดระยอง ประกอบด้วย แนวเส้นทางที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC แนวเส้นทางที่ 2 แหลมเจริญ-สามแยกขนส่ง แนวเส้นทางที่ 3 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-บ้านเพ แนวเส้นทางที่ 4 ระยอง-บ้านค่าย-EECi แนวเส้นทางที่ 5 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมพัฒนา-ปลวกแดง และแนวเส้นทางที่ 6 HSR อู่ตะเภา-ระยอง-EECi โดย สนข. ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC เป็นโครงการนำร่อง

ในส่วนของการลงทุนนั้น รัฐบาลจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชน ตามความเหมาะ โดยในเบื้องต้นรูปแบบของรถโดยสารจะเป็นรถโดยสารไฟฟ้า EV BUS รถโดยสารขนาดเล็ก EV minibus และรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus

อนึ่ง ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ อยากให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้ขยายเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภาไปบ้านเพ/เกาะเสม็ดและเส้นทางสำหรับประชาชนจากเมืองระยองไปตลาดตะพง มีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของ EEC รวมทั้ง ให้พิจารณาแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ประกอบการ/สหกรณ์เดินรถโดยสารประจำทางเดิมเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการเดินรถใหม่ เพิ่มเติมเส้นทางคมนาคมเพื่อขยายโครงข่าย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจรารจร และลดปัญหาคอขวด เช่น ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง และอยากให้มีการขยายเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 สถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เดินทางเป็นวงรอบได้ตลอดจนอยากให้พัฒนาสถานีศรีราชาให้เป็น intermodal สำคัญของนักธุรกิจ และนักลงทุนในการเดินทางไปนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือแหลมฉบัง ในส่วนของผู้แทนผู้ประกอบการเดินรถ ต้องการให้มีสถานีขนส่งผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสถานีรถไฟความเร็วสูง และให้จัดเตรียมพื้นที่จอดรถและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้ง ระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อสุขอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ อยากให้ผลการศึกษาดังกล่าว ต้องเชื่อมโยงเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อสนับสนุนการเดินทาง การพัฒนาอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และให้รัฐสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริง โดย สนข. จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ และ สนข. จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*