ผู้ว่าการรถไฟฯ “นิรุฒ มณีพันธ์” ชูยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้านขับเคลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย สู่อนาคตการเป็นผู้นำระบบราง พร้อมยกระดับการขนส่งของประเทศ เตรียมเขย่าอัตราค่าเช่าที่ดินที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ประมาณ 2 หมื่นไร่ และจัดระบบการจัดเก็บใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลและให้เกิดความเป็นธรรม

 

วันนี้ ( 2 กรกฎาคม 2563) ณ ห้องปฏิบัติการ ชั้น 3 ตึกบัญชาการรถไฟแห่งประเทศไทย  นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงทิศทางและแนวทางการบริหารงานในด้านต่าง ๆ ขององค์กรให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ

นายนิรุฒ กล่าวว่า ระยะเวลากว่า 2 เดือน ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น ได้ลงพื้นที่ดูงาน ตรวจเยี่ยมพนักงานทั่วประเทศ ในการลงพื้นที่ทำให้เห็นถึงการดำเนินงานต่างๆของการรถไฟฯทั้งในเรื่องของข้อจำกัดต่างๆทั้งในด้านการดำเนินงาน การบริหารทรัพย์สินต่างๆของการรถไฟฯ รวมถึงปัญหาที่เกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของประชาชนที่มีการรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของการรถไฟฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียทั้งกับการรถไฟฯเอง หรือแม้แต่ประชาชน ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่และได้เข้าไปดูแลในหลายๆที่ก็ได้รับการตอบรับและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้ง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์กร และประเทศชาติ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (โควิด-19) ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้มีมาตรการดูแลและเตรียมความพร้อมในการดูแลลูกค้าและประชาชนผู้มาใช้บริการ ไม่ว่าจะในเรื่องของมาตรการดูแลป้องกันและการเฝ้าระวัง โดยการรถไฟฯ ได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการปฏิบัติของทั้งพนักงานและผู้ใช้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานของการรถไฟฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน ที่จะขับเคลื่อนการรถไฟฯต่อจากนี้ เพื่อให้กลับมาแข็งแกร่งและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่ายและยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของการรถไฟฯในการ“เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 โดยแต่ละยุทธศาตร์นั้นมีรายละเอียดต่างๆดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง ขณะนี้การรถไฟฯ มีโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการอยู่หลายโครงการ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพ – นครราชสีมา) และโครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีใหญ่ อาทิ สถานีกลางบางซื่อ สถานีแม่น้ำ สถานีมักกะสัน เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าปลายปี 2563 นี้จะเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่า8.5 หมื่นล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท โดยช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของได้ เตรียมนำกลับไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเร็วๆนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ซุปเปอร์บอร์ดมีความเห็นให้แยกมากกว่า 3 สัญญา ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่กระทรวงคมนาคมแล้ว ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม นั้นการรถไฟฯกำลังเขียนทีโออาร์  อย่างไรก็ดีโครงการรถไฟทางคู่ทั้งสองเส้นทางเป็นเส้นทางใหม่และผ่าน EIA แล้ว จะเหลือขั้นตอนการเวนคืนที่ดินและประมูลซึ่งจะดำเนินการควบคู่กันไป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย  การรถไฟฯจะมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างรายได้ทั้งในธุรกิจหลัก (Core Business) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non Core Business) อาทิ ที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อสร้างให้เกิดรายได้และประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยมีการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นในเรื่องของการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบแผนที่ (GIS) เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ดินทั้งหมด จะได้นำมาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กรได้ต่อไป นอกจากนี้ในเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่นั้น ได้มีนโยบายที่จะวางแนวทางการจัดระเบียบผู้เช่าให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการควบคุมแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ รวมถึงการสร้างรายได้เสริมให้การรถไฟฯ จากสินทรัพย์ที่ไม่อยู่ในสภาพใช้งาน เช่น ซากสิ่งของเหลือใช้ ตู้รถไฟเก่า หมอนไม้ เศษเหล็ก เป็นต้น

นอกจากการหารายได้เพิ่มขึ้นแล้วนั้น สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการลดค่าใช้จ่าย และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงาน และบูรณาการข้อมูลจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของการรถไฟฯ อีกทาง

ปัจจุบันการรถไฟฯมีทรัพย์สินจำนวนมาก โดยมีที่ดินที่มีทั้งหมด (รวมเขตทาง) ประมาณ 2.4 แสนไร่ ในจำนวนที่ดินดังกล่าวได้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 2 หมื่นไร่ มีรายได้ค่าเช่าเพียง 2,000 กว่าล้านบาทถือน้อยมาก และเนื่องจากที่ดินบางส่วนอยู่ใจกลางเมืองส่วนตัวเห็นว่าจะต้องมีการปรับอัตราค่าเช่าให้เหมาะสม

นายนิรุฒ มณีพันธ์

“ยอมรับว่าการบริหารจัดการไม่ง่าย มีบางส่วนที่ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ หรือคนเช่าเดิมไม่ยอมจ่าย ” นายนิรุฒ กล่าวให้ความเห็น พร้อมกับกล่าวด้วยว่า คงต้องมาดูรายละเอียด รวมถึงการจัดระบบการจัดเก็บค่าเช่าและพูดคุยกับธนาคารกรุงไทยเพื่อเชื่อมระบบการจัดเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าที่มีเป็นหมื่นรายใหม่ เพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและไม่ให้เกิดการรั่วไหล

ส่วนแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณโครงการสถานีกลางบางซื่อ ที่ดินแปลง A. ที่เคยเปิดประมูลแล้วไม่มีรายใดเข้าประมูลนั้น นายนิรุฒ กล่าวว่าจะนำทีโออาร์โครงการนี้มาทบทวนใหม่ ซึ่งคงไม่เร่งออกประมูลในช่วงนี้ และคงไม่มีนักลงทุนสนใจเนื่องจากบรรยากาศการลงทุนที่ยังไม่เอื้อเพราะได้รับผลกระทบโควิด -19

ยุทธศาตร์ที่ 3 คือ การขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการพัฒนาองค์กรและการจัดการให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ การพัฒนาความรู้ ความสามารถของบุคลากร เพื่อให้มีศักยภาพตรงตาม Competency ที่การรถไฟฯ ต้องการ และการ Reskill & Upskill พนักงาน โดยมีส่วนสำคัญคือ การรักษาองค์ความรู้ โดยการสร้างระบบถ่ายทอดและเก็บรักษาองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น (Knowledge anagement)

นอกจากนี้ การรถไฟฯ มีแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ จึงเห็นได้ว่า การรถไฟฯ เป็นองค์กรแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางสู่ความเป็นเลิศ และความเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน โอกาสที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับระบบราง เพื่อรับใช้สังคมไทยในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในฐานะผู้ว่าการรถไฟ แห่งประเทศไทย พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจของการรถไฟฯ อย่างเต็มศักยภาพ ตามวิสัยทัศน์ เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570” สู่อนาคตอย่างยั่งยืน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*