ถ้าไม่ใช่โครงการที่เรามั่นใจจริงอย่าง ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ ก็คงไม่กล้า Launch โครงการใหม่ในสถานการณ์แบบนี้

คำพูดของ เต-ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความมั่นใจต่อโครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ ในวันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ หลังกวาดยอดขายรอบ Online Booking Sold Out 100%

ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ เป็นการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมโครงการที่ 2 ในปี 2563 ของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ต่อจาก โครงการ ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญฯ 91 โดยทาง ศุภาลัยฯ มีกำหนดการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปี 2563 ทั้งสิ้น จำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท สำหรับอีก 3 โครงการที่เหลือยังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจว่าจะเปิดโครงการใหม่หรือไม่ โดยมีปัจจัยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ

โครงการตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ พื้นที่ 3 ไร่เศษ พัฒนาในรูปแบบของคอนโดมิเนียมสูง 33 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ขนาดตั้งแต่ 29-103.5 ตารางเมตร จำนวน 563 ยูนิต รองรับที่จอดรถ 51% ราคาเริ่มต้น 1.69 ล้านบาท หรือเริ่มต้นที่ 53,000 บาท/ตารางเมตร ราคาเฉลี่ยที่ 60,500 บาท/ตารางเมตร และร้านค้า 2 ยูนิต รวมมูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมาบริษัทฯนำห้องชุดในชั้น 8 และ 16 จำนวน 41 ยูนิต เปิดให้ลูกค้าจอง ผ่านระบบ Online Booking เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี สามารถทำยอดขายรอบ Online Booking Sold Out ได้ 100% ภายในเวลา 2 ชั่วโมง “ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์’’ สร้างปรากฎการณ์ Online Booking Sold Out 100% ปัจจุบันมียอดขายรวมแล้วประมาณ 20% (ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2563) จากจำนวนยูนิตทั้งหมด

ก่อนเป็น “ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์”

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว (ประมาณปี 2559) ศุภาลัยซื้อที่ดินแปลงนี้ในราคา 141,000 บาท/ตารางวา ซึ่งถือว่าได้ราคาที่ดินค่อนข้างถูกและซื้อก่อนที่จะเกิด Sky Walk สถานีบางหว้า โดยที่ดินในย่านบางหว้ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นมาก ราคาที่ดินในปัจจุบันเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัว จากราคาเดิมที่ประมาณ 140,000 บาท/ตารางวา ขยับราคาขึ้นเป็น 2XX,XXX บาท/ตารางวา ปลาย

อาณาเขตโครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์

โครงการฯถูกออกแบบและดีเวลลอปตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว(ปี 2562) ภายใต้โจทย์ คอนโดมิเนียมที่สามารถรองรับปัญหาจากฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นเสมือนสัญญาณเตือนเรื่องสุขภาวะหลังจากนั้นช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้ทีมงานต้องแก้ไขและปรับแบบเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

สุขอนามัยที่กลุ่มผู้บริโภคให้ความสำคัญแบบสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ แต่เนื่องจากวิกฤติในครั้งนี้เกิดจากสุขอนามัยจึงเป็น Awareness ที่สร้างผลกระทบมากมายในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคมและประเทศ ไม่เพียงแต่อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เมื่อสถานที่ภายนอกไม่ปลอดภัยผู้คนต่างหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ต่างๆ รวมถึงชุมชนแออัด ดังนั้น บ้านหรือที่อยู่อาศัยจึงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดส่งผลให้เกิดกิจกรรมต่างๆขึ้นภายในบ้าน Work from Home จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่โครงการคำนึงในเรื่องของพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในรูปแบบ New Normal

นอกจากนี้ออนไลน์เข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมตั้งแต่การสั่งอาหารรวมถึงการเลือกซื้อสินค้าที่ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมากโครงการจึงออกแบบพัฒนาพื้นที่ขึ้นเพื่อรองรับด้วยความเข้าใจในพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ความนิยมของคนไทยในปัจจุบันหันมาปลูกต้นไม้ในที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียว ช่วยกรองฝุ่น และกำจัดมลพิษจึงเป็นจุดที่โครงการใส่ใจถึงพื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผ่านการผสมผสานกับตัวอาคารเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่ผู้พักอาศัย

โครงการฯคำนึงถึงการออกแบบที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมทั้งด้านสุขภาพ ความปลอดภัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค โดยใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาผสมผสาน ถือเป็นจุดกำเนิดของ “ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์”

ศุภาลัยนำเสนอผ่าน “ลอฟท์ สไตล์” ในโครงการฯ

“ลอฟท์” แบรนด์ที่ศุภาลัยเลือกปักหมุดบนทำเลบางหว้า นิยาม ลอฟท์ ที่ศุภาลัยให้ความหมายถึง ความสูงโปร่ง ตั้งแต่พื้นถึงฝ้าเพดาน รวมทั้งระบบการหมุนเวียนของอากาศที่ช่วยให้เกิดการถ่ายเท และการใช้วัสดุใกล้เคียงกับวัสดุโทนสีธรรมชาติในแบบดั้งเดิมที่ไม่มีการตกแต่งเพิ่ม จึงถูกดึงมาเป็นคุณสมบัติของการออกแบบโครงการฯ

ตลอดจนความเอื้ออำนวยในเรื่องของผังเมืองที่เป็นตัวส่งให้โครงการสามารถออกแบบห้องพักอาศัยให้มีเพดานสูงได้ โดยออกแบบยูนิตพักอาศัยในจำนวนที่จำกัดเพื่อให้เกิดพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นในเชิงอัตราส่วน กว้าง x ยาว x สูง ช่วยเพิ่มมูลค่าของห้องพักอาศัยได้มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

แนวคิดและการออกแบบโครงการฯ

โครงการออกแบบภายใต้แนวคิด “Naturalism” ที่เกิดจากการผสานกันของธรรมชาติและอาคาร ทำให้เกิดการระบายอากาศที่ดี ให้ความรู้สึกสบายในการพักอาศัย

อาคารวางผังเป็นรูปตัว L ประกบกับอาคารจอดรถ เพื่อให้เกิดเป็น Pocket Court Yard ตรงกลางพื้นที่ว่างระหว่างอาคารพักอาศัยและอาคารจอดรถ ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศและระบายความร้อนจากตัวอาคาร ทำให้มีพื้นที่โอบล้อม Green space มากถึง 12 จุด ทั่วโครงการ มีความสะดวกสบายและลดความแออัดจากการใช้พื้นที่ส่วนกลางลงช่วยให้เกิด Social Distance ในการใช้พื้นที่ส่วนกลางอย่างสบายใจ นอกจากนี้โครงการใส่ใจถึงพื้นที่สีเขียวที่ถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารเพื่อกรองอากาศจากภายนอกช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีของผู้พักอาศัยทั้งทัศนียภาพและความรู้สึก

โครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ ถือเป็นโครงการนำร่องที่ถูกเปิดตัวขึ้นหลังวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยคลี่คลายลง โครงการจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ New Normal ที่ช่วยลดการสัมผัสลง ผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีในรูปแบบ Automatic และ Face Scan ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้นช่วยลดการส่งต่อแบคทีเรียระหว่างกัน นอกจากนี้ยังคงรูปแบบอาคารประหยัดพลังงานด้วยกระจกเขียวตัดแสงช่วยลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวอาคารและลดเสียงรบกวนจากภายนอก

สถานที่ที่สาม “Favorite Third Place” ที่สร้างแรงบันดาลใจใน 365 วัน โดยที่ไม่ต้องเดินทาง

จากการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ทีมงานเห็นถึงกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อการ Work from Home หรืออาชีพเสริมอื่นๆเพิ่มเติมจากอาชีพปกติ โครงการจึงออกแบบพื้นที่ห้องพักให้มีสัดส่วนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ตามพฤติกรรมของบุคคล ห้องพักอาศัยสูง 2.7 เมตร ทุกห้องเปิดรับแสงจากธรรมชาติ

แนวคิดของการออกแบบสำนักงานขาย พื้นที่ส่วนกลางเกิดจาก “Favorite Third Place” โดยสถานที่ที่ 1 คือ บ้าน สถานที่ที่ 2 คือ ที่ทำงาน Favorite Third Place จึงหมายถึงสถานที่ที่ 3 ที่ถูกให้ความสำคัญ เป็นสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจต่อกลุ่มบุคคลในการท่องเที่ยวหรือไปสถานที่ต่างๆแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางไม่สะดวกอีกต่อไป จึงเป็นแรงบันดาลใจให้โครงการหยิบยกพื้นที่สวยๆเข้ามาไว้ใน ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ เพื่อรองรับให้ลูกบ้าน ยังสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้ใน 365 วัน โดยที่ไม่ต้องเดินทาง นำเสนอผ่านความเป็น ลอฟท์ และธรรมชาติ โดยเน้นสีสรรค์ไปทางเอิธโทนและวัสดุคงเดิมที่ไม่มีการตกแต่งหรือขัดมัน

เปิดโครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ ในภาวะตลาดอสังหาฯที่ท้าทาย

ตั้งแต่ปี 2555 ราคาคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่อยู่ในระดับราคาเฉลี่ย 50,000-60,000 บาทต่อตารางเมตร และมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยระดับราคาคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าสายสีลมไม่เกิน 500 เมตร ระดับราคาคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ณ ปัจจุบัน(มิถุนายน 2563) เริ่มต้นที่ 80,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร ทำให้ไม่เห็นโครงการใหม่ในช่วงปีหลังที่มีการเปิดตัวโครงการในราคาที่ต่ำกว่า 60,000 บาท มาเป็นระยะเวลานาน

กว่า 8 ปี ที่ผ่านมา จึงถือกำเนิด ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ โครงการใหม่จากค่ายศุภาลัยฯ ที่มีราคาเปิดตัวต่ำกว่า 60,000 บาทต่อตารางเมตร บนทำเลที่อุดมสมบูรณ์ ใกล้รถไฟฟ้าสถานีบางหว้า 450 เมตร สถานีอินเตอร์เชนจ์ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวสีลมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเตาปูน-หลักสอง

“สถานการณ์ที่เพิ่งพ้นโควิด-19 มา และดีเวลลอปเปอร์ต่างไม่เชื่อมั่น 100% แต่เราก็มีจุดยืนมากพอที่เราจะกล้านำมา Launch ในช่วงเวลาแบบนี้ และผมก็เชื่อว่าทุกๆดีเวลลอปเปอร์กำลังจับตายอดขายของโครงการ ศุภาลัย ลอฟท์ สาทร-ราชพฤกษ์ ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีทีเดียวเพราะมีครบขนาดนี้แล้วถ้าสินค้าแบบนี้ในระดับราคาแบบนี้ไปไม่ได้ผมก็นึกไม่ออกว่าโครงการไหนจะไปได้” นายไตรเตชะ กล่าว

เป็นหนึ่งร่วมกับชุมชน

หลังจากที่ปักหมุดโครงการฯ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานเขตภาษีเจริญ และกรมทางหลวงชนบท ขออนุญาตปรับปรุงพัฒนาแนวทางเดินตลอดทาง ซึ่งทางบริษัท ศุภาลัยฯเคยขออนุญาตในหลายโครงการแล้วสำหรับพื้นที่อื่นๆแต่ไม่ได้รับอนุญาต แต่พื้นที่บริเวณนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีมากจึงทำให้แนวทางเดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปินจิตอาสามาช่วยในการออกแบบจิตรกรรมบนกำแพงหรือ Graffiti เพื่อปรับปรุงและเนรมิตรทางเดินให้เต็มไปด้วยสีสัน พร้อมลวดลายที่สร้างความน่าสนใจ รวมทั้งหลังคาและแสงสว่างเพิ่มเติมที่อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาโดยใช้งบประมาณในการปรับปรุงหลักล้านบาท…

มาเพื่อพัฒนาร่วมกันกับชุมชน ไม่ได้มาเพื่อสร้างความเดือดร้อนหรือเอาแต่ประโยชน์

การร่วมมือกันระหว่าง เอกชน และ ภาครัฐ ในการปรับปรุงชุมชน ทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ไปด้วย เพื่อเข้าไปพัฒนาทำเลเดิมให้ดีขึ้น ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชนและสังคมส่งผลให้ชุมชนเกิดความสุข เป็นระเบียบ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการผ่าน EIA ไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 และเป็นโครงการแรกในหลายปีหลังที่ผ่าน EIA ตั้งแต่รอบแรก โดยปกติแล้วหลายๆโครงการจะต้องยื่นขอ EIA ขั้นต่ำถึง 2 รอบ

โครงการฯได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี ชุมชนมองเห็นถึงการพัฒนาร่วมกัน พัฒนาพื้นที่ชุมชนและสภาพแวดล้อมตั้งแต่แรกเริ่มก่อนโครงการก่อสร้างเสร็จ การปรับปรุงทางเดินช่วยให้พื้นที่เกิดการสร้างสรรค์ขึ้นและรู้สึกถึงความปลอดภัยของการเดินทาง และยังเป้นจุดเช็คอินแห่งใหม่เพื่อดึงดูดประชาชนให้มาเยี่ยมชมจิตรกรรมบนกำแพงโดยเฉพาะสายสตรีท ที่หลงไหลภาพวาดแนว Graffiti

บางหว้า Interchange สำคัญของฝั่งธนฯ

พื้นที่บางหว้า เป็นทำเลหนึ่งที่ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจและเข้ามาพัฒนาโครงการ โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าบางหว้าเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาที่เห็นความชัดเจนมากขึ้น หลังการเปิดให้บริการของสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า เปิดให้บริการ ราคาที่ดินในย่านบางหว้านี้มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด และการมาของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเตาปูน-หลักสอง ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งที่ทำให้สถานีบางหว้ากลายเป็นจุด Interchange สำคัญระหว่าง รถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยรอบก้าวกระโดดขึ้นไปอีก อัตราการขายคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้อยู่ที่ประมาณ 78% โดยโครงการเปิดขายใหม่ส่วนใหญ่มีราคาขายเริ่มต้นมากกว่า 80,000 บาทต่อตารางเมตร โดยราคาเฉลี่ยนในย่านบางหว้าปัจจุบันอยู่ที่ 84,400 บาทต่อตารางเมตร

การเปิดโครงการใหม่บนทำเลย่านบางหว้าในราคาขายที่ต่ำกว่านี้ จึงเป็นแรงกระตุ้นที่สร้างความน่าสนใจของดีมานด์ที่ยังคงต้องการที่อยู่อาศัยบนทำเลย่านนี้ให้กลับมาคึกคักแม้ภาพรวมตลาดอสังหาฯในปัจจุบันจะรายล้อมไปด้วยปัจจัยลบก็ตาม บางหว้ายังคงเป็นทำเลที่น่าสนใจด้วยพื้นที่ที่แวดล้อมไปด้วยการใช้ชีวิตและการเดินทางที่สะดวก อีกทั้งยังเป็นสถานีต้นสายที่วิ่งเข้าสู่เมืองชั้นในสู่ใจกลาง CBD ในย่านสาทร-สีลม เพียงระยะเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น และกำลังจะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นหากมีการปรับเปลี่ยนสีของผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่เพื่อการใช้ประโยชน์โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าบางหว้าให้เหมาะสมกว่าปัจจุบัน รวมทั้งการต่อขยายเส้นทางไปตามถนนราชพฤกษ์สิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชันก็จะเป็นแรงส่งที่สร้างความน่าสนใจในอนาคต

ณ สิ้นไตรมาส 1 โครงการคอนโดที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 5 โครงการ ประมาณ 3,863 ยูนิต มูลค่าโครงการรวม 10,345 ล้านบาท ขายไปแล้วประมาณ 3,026 ยูนิต คิดเป็น 78% ของอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด เหลือขายประมาณ 837 ยูนิต คิดเป็น 22% โดยผู้ประกอบการพัฒนาเป้นห้องแบบ 1 bedroom มากที่สุดถึง 54.9% รองลงมาคือแบบ Studio คิดเป็น 30.9% และแบบ 2 Bedroom คิดเป็น 14.2%

โดยห้องที่ขายดีสูงสุดเป็นแบบ 2 ห้องนอน สามารถขายได้สูงสุดประมาณ 87.8% รองลงมาคือแบบ 1 ห้องนอน ประมาณ 78.3% และแบบ Studio ขายได้ประมาณ 74.0%

ในขณะที่ระดับราคาขาย 2,500,001 – 3,000,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการนิยมพัฒนาสูงสุดจำนวน 1,448 ยูนิต คิดเป็น 37.5% โดยระดับราคาที่ขายดีที่สุดอยู่ในช่วง 3,000,001 – 5,000,001 ล้านบาท ขายได้ประมาณ 86.1% (23 มิถุนายน 2563. คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย))

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*