พ่อสร้างครอบครัวมาจากอสังหาริมทรัพย์
อนาคตหากความสำเร็จเกิดขึ้นอยากให้ชื่อ
“คุณาลัย” ยังอยู่เสมือนกับเป็นตำนาน(Legend)ของคุณพ่อ

จุดกำเนิดจากชื่อ “คุณาลัย” หนึ่งในแบรนด์โปรดักส์ของบริษัท อาร์.เอ็ม.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ปกรณ์ ศังขวณิช ผู้เป็นบิดาของประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทวิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเป็นที่ยอมรับในวงการอสังหาริมทรัพย์ ประวีรัตน์ จึงได้หยิบยกชื่อของ คุณาลัย มาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทภายใต้ชื่อใหม่ คือ บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด

ศึกในสังเวียนวิกฤตอสังหาฯปี 2540

ย้อนเวลากลับไปก่อนเกิดบริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด ประวีรัตน์ ผู้สานต่อแนวคิดและเจริญรอยตามธุรกิจของบิดา ประวีรัตน์ เทวอักษร หรือ รัตน์ จบการศึกษาปริญญาตรีคณะครุศาสตร์ศิลปะศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อปริญญาโทด้านการบริหาร ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นเด็กยุคปี 2540 ที่เผิชญหน้ากับวิกฤตในปีนั้นเข้าเต็มประดาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษา ประวีรัตน์ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ทางบ้านไม่สามารถส่งเงินให้เรียนได้ ในช่วงปีสุดท้าย ประวีรัตน์จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองเรียนให้จบและรีบเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่ประเทศไทย ในขณะเดียวกันบริษัท อาร์.เอ็ม.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัทในเครืออีกกว่า 10 แห่ง ภายใต้การบริหารงานของ “ปกรณ์ ศังขวณิช” ผู้เป็นบิดาของประวีรัตน์ ได้เผชิญกับวิกฤตปี 2540 เข้าอย่างเต็มประตู โดยมีหนี้สินสูงถึง 5,000 ล้านบาท ประวีรัตน์ที่มีอายุ 24 ปี ในขณะนั้น เริ่มเข้ามาเรียนรู้งานในบริษัทฯและร่วมกันกับทีมงานเดิมของบริษัทคุณพ่อ มุ่งมั่นแก้ปัญหาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี ในการจัดการหนี้สินก้อนสุดท้ายจบลงในปี 2552

บริษัท อาร์.เอ็ม.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ถือเป็นบริษัทอสังหาฯในยุคแรกๆ เริ่มต้นเมื่อปี 2522 สร้างชื่อเสียงมาจากการทำโครงการบ้านจัดสรรแถบชานเมืองแถวบางบัวทอง โดยมีโครงการขนาดใหญ่กว่า 10,000 หลังคาเรือนอย่าง ‘บ้านบัวทอง’ เป็นต้น (ปัจจุบันคือที่ตั้งของสถานีคลองบางไผ่ ปลายสายของรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่) ซึ่งบริษัทในกลุ่มอาร์.เอ็ม.ฯ นับว่าเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่เข้าไปบุกเบิกที่ดินในย่านบางขุนเทียน ชายทะเล เมื่อปี 2538 ได้ตั้งแบรนด์ “คุณาลัย บางขุนเทียน” เน้นการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่เป็น ‘ปอด’ ของคนกรุงเทพฯ และใช้ชื่อนี้ต่อมาอีกหลายโครงการ ก่อนที่จะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ทำให้ต้องชะลอการพัฒนาโครงการออกไป

ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ในการแก้ปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า ผู้เป็นพ่อไม่ยอมปล่อยให้บริษัทล้มละลาย “บ้านเรามีอาชีพเดียว เรารักอาชีพนี้ เราทำกันเป็นอย่างเดียว เราดูที่ดินเป็น ก่อสร้างเป็น ตอนนั้นคิดว่า ‘ลูกโตคือกำไร’ในเมื่อหนี้มากมายทรัพย์สินไม่เหลืออะไรแล้ว ก็ต้องพยายามเหลือชื่อเสียงให้ลูกไปเติบโตในอนาคต” อุดมคติของปกรณ์ ศังขวณิชผู้เป็นพ่อของประวีรัตน์ ทำให้บริษัทฯในเวลานั้น ร่วมวางแผนกับสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ทุกราย และรักษาเครดิตไว้ให้ได้

เรียนรู้สู่การเติบโต

ช่วงเวลากว่า 10 ปี ที่ประวีรัตน์ได้เข้ามาศึกษางานในบริษัทของผู้เป็นบิดาโดยเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานการตลาด เป็นลูกสาวที่ถูกว่าจ้างโดยไม่ได้รับเงินเดือนเนื่องจากบริษัทฯกำลังประสบปัญหากับวิกฤตในขณะนั้น เป็นการเข้าไปเพื่อเรียนรู้งานและแก้ปัญหาหนี้สินของบริษัทฯ ร่วมกันกับทีมงาน จึงก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างน้อง-พี่ ในกลุ่มของเพื่อนร่วมงานและได้รับการยอมรับในฝีมือ ทำให้ประวีรัตน์เติบโตขึ้นในสายงานธุรกิจ ต่อมาเมื่อภาระหนี้สินเริ่มลดลง ปกรณ์ ผู้เป็นบิดา ได้มีแนวคิดนโยบายการเติบโตแบบ “ต้นอ้อ” ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกๆแยกตัวออกไปก่อตั้งบริษัทเป็นของตนเอง ประวีรัตน์ ผู้สานต่อความสำเร็จและเจริญรอยตามจึงเลือกเส้นทางนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจัดตั้งบริษัทของตัวเอง ภายใต้ชื่อ บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด ขึ้น โดยได้หยิบยกแบรนด์โปรดักส์ ‘คุณาลัย’ของคุณพ่อมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทใหม่ พร้อมก้าวขึ้นสู่ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทฯ

บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ด้วยทุนจดทะเบียนที่ 300 ล้านบาทชำระครบเต็มจำนวน เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ในช่วงปลายปี 2562 (ใช้อักษรย่อว่า KUN)

ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทรวม 8 โครงการ มูลค่ารวมมากกว่า 5,500 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ ‘คุณาลัย’

บริษัทฯ เลือกทำเลการพัฒนาโครงการในรูปแบบบ้านจัดสรรแนวราบล้วนๆ เน้นการสร้างเมืองที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบ ในพื้นที่เขตปริมณฑลรอบใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ด้วยมองว่าไม่ต้องการเข้าไปแข่งขันในย่านใจกลางเมือง อีกทั้งมีความคุ้นชินและถนัดมากกว่า ซึ่งมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการทำโครงการให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย การเข้าเจาะพื้นที่ใจกลางเมืองทำให้ต้องปรับ Product Identity ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดและขาดความชำนาญ

“คุณาลัยเวสต์เกท” อาณาจักรแห่งที่อยู่อาศัย ปักธงย่านบางบัวทอง บนทำเลทองที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งที่อยู่อาศัยในโซนกรุงเทพฯฝั่งตะวันตกกว่า 10 ปี ภายใต้กลยุทธ์ “สุขใจอยู่บ้านชานเมือง” เพื่อพัฒนาและขยายการเติบโตของโครงการในทำเลอื่นๆให้ครบทั้ง 4 ทิศ รอบพื้นที่กรุงเทพฯ เสริมสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพของแบรนด์ธุรกิจก้าวสู่ผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เขตปริมณฑล

สยายปีกธุรกิจ 4 ทิศ รอบกรุงเทพฯ

บริษัทชำนาญในเรื่องของบ้านชานเมือง
ความแตกต่างของ คุณาลัย
ทำให้ประสบความสำเร็จ
ในการทำกำไรและยอดขาย

“ สุขใจอยู่บ้านชานเมือง” แนวคิดและการพัฒนาโครงการของคุณาลัย ที่ถือกำเนิดจากบ้านชานเมือง เติบโตจากพื้นที่บางบัวทอง จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ประวีรัตน์เริ่มเปิดเกมบุกและรุกพัฒนาโครงการต่อไป รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจที่จะต้องเติบโตขึ้นจึงมองเห็นอีก 3 ทิศ รอบกรุงเทพมหานครที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นได้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทและการเติบโตในธุรกิจ ปัจจุบันบริษัทฯมีโครงการอยู่ใน 2 ทิศรอบกรุงเทพฯ ได้แก่

ทิศตะวันตก โซนทำเลบางบัวทอง ที่บริษัทปักธงบนทำเลทองมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี โดยมีโครงการประกอบด้วย

บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด

• โครงการ คุณาลัย พราว มูลค่าโครงการ 416 ล้านบาท บนพื้นที่ 34 ไร่ จำนวน 134 ยูนิต ซึ่งดำเนินการขายหมดแล้ว
• โครงการ คุณาลัย คอร์ทยาร์ด มูลค่าโครงการ 889 ล้านบาท บนพื้นที่ 48 ไร่ จำนวน 261 ยูนิต ใกล้จะปิดโครงการแล้ว
• โครงการ คุณาลัย ซิมโฟนี มูลค่าโครงการ 416 ล้านบาท จำนวน 90 ยูนิต
• โครงการ คุณาลัย พอลเลน มูลค่าโครงการ 166 ล้านบาท บนพื้นที่ 8 ไร่เศษ จำนวน 42 ยูนิต
• โครงการ คุณาลัย จอย มูลค่าโครงการ 836 ล้านบาท บนพื้นที่ 47 ไร่เศษ จำนวน 229 ยูนิต

ทาวน์โฮม

• โครงการ คุณาลัย บีกินส์ มูลค่าโครงการ 258 ล้านบาท บนพื้นที่ 11 ไร่เศษ จำนวน 128 ยูนิต

โครงการเปิดใหม่ในปี 2563 อีก 2 โครงการ คือ

บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด

• โครงการคุณาลัย พรีม มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท บนพื้นที่ 62 ไร่ จำนวน 411 ยูนิต คาดว่าจะเปิดขายราวไตรมาส 3/2563

ทาวน์โฮม

• โครงการ คุณาลัย บีกินส์ 2 มูลค่าโครงการประมาณ 826 ล้านบาท บนพื้นที่ 38 ไร่ จำนวน 379 ยูนิต

โครงการในอนาคต

อาคารพาณิชย์

• โครงการ วิลล่า วาณิช มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท บนพื้นที่ 17 ไร่ จำนวน 160 ยูนิต คาดว่าจะเริ่มเปิดขายราวปี 2564-2565

โซนทำเลฉะเชิงเทรา ด้วยทำเลที่มีศักยภาพ มีอัตราการเติบโต และมีความต้องการของที่อยู่อาศัย ประกอบกับเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งทิศที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต และเป็นการวางจิ๊กซอว์ชิ้นที่ 2 ลงบนทิศตะวันออกแห่งนี้ โดยเริ่มเปิดโครงการแรก นำสินค้าขายดีที่สุดจากบางบัวทองไป modify ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย

บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด

• โครงการ คุณาลัย จอย ออน 314 ฉะเชิงเทรา มูลค่าโครงการ 504 ล้านบาท บนพื้นที่ 24 ไร่ จำนวน 132 ยูนิต ความคืบหน้าการก่อสร้าง40 ปัจจุบันโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 20 แปลง

ทิศเหนือ – ทิศใต้


สำหรับอีก 2 ทิศที่เหลือ คือ ทิศเหนือ และทิศใต้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาของบริษัท เพื่อพิจารณาถึงทำเลและพื้นที่ที่เหมาะสมในการเปิดโครงการ “ในการตั้งโครงการเราจะมีทีมงานและคู่มือการศึกษา จะใช้ระยะเวลาในการศึกษาค่อนข้างนานในส่วนนี้ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ Focus Group บนทำเลที่จะสามารถพัฒนาโครงการได้ และ Location ทำเลที่เหมาะสมกับราคา ที่ดินที่เหมาะสมกับราคาบ้านของคุณาลัยในระดับ 2-5 ล้านบาท ลึกลงไปกว่านั้นเราถนัดในการสร้างเมือง สำหรับการมองหาที่ดินเราไม่ได้มองเพียงแค่แปลงเดียว เราอยากให้ที่ดินในทำเลย่านนั้นสามารถพัฒาโครงการต่อๆไปในอนาคตได้ด้วยในพื้นที่ละแวกใกล้กัน เราจะมองหาที่ดินในลักษณะแบบนี้ และมีความมั่นใจว่าทำเล ตรงนี้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” ประวีรัตน์กล่าว

จุดเริ่มต้นจากความฝันในการบริหารธุรกิจโดยนำองค์ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเกราะที่แข็งแกร่งต่อแบรนด์ ทำให้ประวีรัตน์วางวิสัยทัศน์ภายใต้นิยาม “ความสุขสร้างบ้าน” ผ่านพื้นที่การใช้สอยและความเป็นส่วนตัว รวมทั้งความรักในครอบครัวที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากนี้บริษัทฯให้ความสำคัญต่อกลุ่มบุคคล 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้า ด้วยความตั้งใจที่จะมอบบ้านในราคาที่ดี บนทำเลที่คุ้มค่า ราคาสมเหตุสมผล และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กลุ่มของผู้ถือหุ้นและพันธมิตรในการร่วมทำงานอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในจริยธรรม กลุ่มพนักงานปกครองด้วยความเมตตา ให้โอกาสในการเติบโต เรียนรู้และพัฒนาเพื่อการทำงานอย่างมีความสุข และสังคมเพื่อให้ชุมชนโดยรอบมีความสุขขยายออกสู่วงกว้างในแวดล้อมใหม่ที่ดียิ่งขึ้น ที่จะช่วยนำพาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ครองใจกลุ่มลูกค้า เพื่อก้าวสู่หนึ่งใน 5 ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดีที่สุดในพื้นที่เขตปริมณฑลภายใน 2-3 ปี

“บ้าน” นิยามที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง

สิ่งที่มองเห็นมาตลอดคือดีมานด์
ความต้องการที่จะมีบ้านของคนไทย
ไม่ได้ลดลงเลยและมีมากขึ้นต่อเนื่อง
มาโดยตลอด

ในช่วงการเริ่มต้นการทำงานของประวีรัตน์เสมือนการก้าวเข้าสู่สมรภูมิอสังหาฯในปี 2540 ที่นับว่าวิกฤตหนักที่สุดของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งที่ประวีรัตน์มองเห็นมาโดยตลอดคือดีมานด์ของคนไทยที่ต้องการมีบ้านไม่ได้ลดลง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ในดีมานด์มีความแตกต่างกันตามความต้องการที่อยู่อาศัยของเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ในขณะที่ผู้ประกอบการลดลง เนื่องด้วยการดำเนินธุรกิจอสังหาฯต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ขั้นตอนการผลิตสินค้าต้องใช้ความรู้มาก ทั้งในด้านนิติกรรมต่างๆค่อนข้างซับซ้อน สินค้าที่ขายมีราคาแพง กว่าจะขายสินค้าได้บางครั้งใช้ระยะเวลานานเป็นปี ความรับผิดชอบต้องมาก เพราะหลังจากการขายไปแล้วต้องดูแลลูกค้าต่อเนื่องไปจนการส่งมอบนิติบุคคล อีกทั้งตลอดทางของการดำเนินธุรกิจรายล้อมไปด้วยปัยจัยเสี่ยง ทำให้อุตสาหกรรมนี้เหลือเพียงผู้ประกอบการที่แข็งแรงและมีใจรักเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ขณะเดียวกันที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ที่ยังคงเป็นพื้นฐานความต้องการของชีวิต การซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่จะซื้อบ้านเพียงแค่หลังเดียวและเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต โดยขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าหรือปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นของการเปลี่ยนแปลงอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการอยู่อาศัย รูปแบบของสินค้า การทำการตลาด หรือแม้แต่เทรนด์ของกลุ่มลูกค้าที่เป็นกำลังซื้อ

บ้านเป็นจุดเริ่มต้นของความอบอุ่นและศูนย์รวมของครอบครัว ช่วยปกป้องภยันตรายจากสรรพสิ่ง แท้จริงแล้ว “บ้าน” ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ของโลกตามไลฟสไตล์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา

เดิมทีในช่วงปี 2540 -2550 ภาคธุรกิจอสังหาฯประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงเวลานั้นตลาดอสังหาฯเป็นของผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดความต้องการของอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นตลาดอสังหาฯบูมและได้รับความนิยมสูงมาก เกิดการเก็งกำไรในอสังหาฯอย่างสมบูรณ์แบบ การเปลี่ยนถ่ายมือของผู้ถืออสังหาฯเกิดขึ้นรวดเร็วมาก แต่หลังจากเกิดวิกฤตในปี 2540 ตลาดกลับมาเป็นของผู้ซื้ออีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค เพื่อผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ ตรงตามความต้องการ ก่อให้เกิดการสร้างเทรนด์ที่อยู่อาศัยขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มตลาดลูกค้าเป้าหมาย เป็นยุคที่ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่มีพัฒนาการมาก จึงทำให้รูปแบบและสไตล์ของที่อยู่อาศัยในแต่ละโครงการไม่ค่อยแตกต่างกันหรือไม่ค่อยมีความหลากหลายในรูปแบบและดีไซน์ที่ใช้ในการออกแบบเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาโครงการ ทำให้ลักษณะของการก่อสร้างหรือตัวสินค้าที่ถูกผลิตออกมาในช่วงเวลานั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ถัดมาอีก 10 ปี ระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นเสมือนการเปิดโลกกว้างที่เชื่อมต่อและเข้าถึงแหล่งสารสนเทศต่างๆ ส่งผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและสไตล์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นสร้างความแตกต่างกันในโปรดักส์ แรงบันดาลใจของการออกแบบและการพัฒนาโครงการมีความหลากหลาย ผู้ประกอบการกล้าที่จะสร้างและนำเสนอความแตกต่างผ่านโปรดักส์ ที่สร้างความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

2563 จุดเปลี่ยนสำคัญของอสังหาฯอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2563) บ้านมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากที่เคยเป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน บ้าน อาจกลายเป็นที่ทำงาน มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับการ work-from-home และพื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกันของคนในบ้าน ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของคนในบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ภาพของการใช้ชีวิตในบ้านและครอบครัวจะไม่เหมือนเดิม เพื่อนบ้านจะมีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงสังคมของหมู่บ้านในภาพที่เคยเห็นจะไม่เหมือนเดิม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อภาพจำของที่อยู่อาศัยในแบบอดีต ถือเป็นจุดกำเนิดของ New Normal ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ในส่วนของมาตรการ Loan to Value Ratio หรือ LTV ที่ถูกบังคับใช้ บริษัทฯได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในระดับราคา 2-5 ล้านบาท และผู้ซื้อโครงการส่วนใหญ่เป็นบ้านหลังแรก โดยมีสัดส่วนของคนไทยราว 98% และเป็นชาวต่างชาติ 2% ซึ่งมีวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ในแบบชาวไทยคือมีภรรยาหรือคู่สมรสเป็นชาวไทย อีกทั้งมาตรการ LTV ที่ถูกบังคับใช้ ถูกควบคุมกับบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป จึงทำให้บริษัทแทบไม่ได้รับผลกระทบ

วิกฤตสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่การเรียนรู้และพัฒนา

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แตกต่างกับวิกฤตปี 2540 อย่างสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเตรียมการในประเทศที่มีศักยภาพเป็นอย่างดีมาตรการต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้รองรับการเกิดวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ที่ค่อนข้างดี หรือการออกมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ทำให้เกิดการสมดุลในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพียงแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้ (มกราคม – พฤษภาคม 2563) เป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เสมือนกับ พายุสึนามิ ที่มาถึงแล้วกวาดทั่วโลก รวดเร็วและไม่มีใครตั้งตัวได้ทันเวลา ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเตรียมตัวที่จะตั้งรับก็ไม่ทันการณ์แล้ว แม้จะเป็นเหตุการณ์ระยะเวลาสั้นๆแต่ผลกระทบฝังลึกในธุรกิจ และยังคงส่งผลกระทบต่อไปอีกประมาณ 1-2 ปี เป็นเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีและการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรงเข้าไปสู่โครงสร้างของความคิด และทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปมีเรื่องราวใหม่ๆที่ต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยน ทำให้เกิด New Normal ที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจ New Normal จะเป็นตัวช่วยเสริมให้คนไทยมองหาบ้าน เรียนรู้สู่การปรับตัวและวิธีการจัดการ สิ่งที่บริษัทฯต้องศึกษาคือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการใช้ชีวิต ในรูปแบบ New Normal

ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทฯได้ตัดสินใจใช้การบริหารในแนวทางแบบ Worst Case Scenario คือคิดว่าแย่ที่สุดจะเป็นอย่างไร แล้ววางแผนต่อสู้จากจุดนั้น แม้จะยอมรับว่าปรับตัวไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงแรก แต่เมื่อข่าวสารและตัวเลขเริ่มชัดเจน บริษัทได้ตัดสินใจบุกเรื่องการสื่อสารสินค้า ‘สุขใจอยู่บ้านชานเมือง’ ผ่านสื่อ On line ไปแบบเต็มที่ โดยเชื่อว่า สินค้าเราอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่จะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้วิถีชีวิตแบบ New Normal และบริษัทได้ออกมาตรการต่างๆมาเพื่อดูแลความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานโดยให้สอดคล้องกับพระราชกำหนดที่มีการบังคับใช้ในปัจจุบัน(พฤษภาคม 2563)

สำหรับในช่วงไตรมาสแรก 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายและยอดโอนของบริษัทฯเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นเพราะลูกค้ามีการย้ายจากการอยู่ในเมืองที่มีความแออัด มองหาพื้นที่ในเขตชานเมืองที่ยังสามารถเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกอยู่ และมองหาบ้านที่ให้พื้นที่มากขึ้น แก้ปัญหาในเรื่องของ space ที่ต้องการใช้มากขึ้นจากการที่สมาชิกในครอบครัวอยู่บ้านพร้อมกันแทบจะตลอดเวลา และมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของเดือนเมษายนที่ผ่านมา มียอดลูกค้าติดต่อให้ความสนใจและเยี่ยมชมโครงการสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนของสิบปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

ขณะที่แผนการดำเนินงานของธุรกิจในภาพใหญ่นั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงเพียงแต่อาจมีการปรับแผนการดำเนินงาน จากที่เป็นแผนประจำปี ปรับเป็นแผนรายไตรมาสตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เข้ามากระทบต่อการทำธุรกิจ ตอนนี้เปรียบเสมือนเรือที่ลอยอยู่กลางทะเลและมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เกาะตรงหน้า เพียงแต่ระหว่างทางมีพายุใหญ่ที่พัดถาโถมเข้ามาทำให้เรือต้องหลุดออกจากเส้นทางที่วางไว้ แต่ในฐานะที่เป็นผู้ถือเข็มทิศอยู่ในมือ อย่างไรก็ตามเกาะนั้นก็ยังคงเป็นจุดหมายที่ต้องเดินทางไปให้ถึงเพื่อการเติบโต ….. เพียงแต่ล่าช้าออกไปสักหน่อยจากแผนเดิม

ช่วงเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด หรือการทำตัวเลขให้ประสบความสำเร็จแต่เป็นช่วงเวลาของการประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอด การรอดได้ในวิกฤตก็มีสิทธิ์ที่เติบโตใหม่ รวมทั้งหากมองเห็นโอกาสในวิกฤตจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือ

แผนการดำเนินงานและเป้าหมายใหญ่ของบริษัทฯยังคงเหมือนเดิม แต่สำหรับเป้าหมายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ให้อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง พึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด ไม่เป็นภาระ ในขณะเดียวกันเรามีทีมสำรองเพื่อเตรียมการและมองหาโอกาสใหม่ๆที่จะเข้ามาในวิกฤต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และพร้อมรับต่อสถานการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

เพราะวิกฤตเมื่อปี 2540 ได้สอนบทเรียนสำคัญไว้ว่า ผู้ที่อึดทนกว่าคือมีโอกาสรอดมากกว่า ผู้ที่ปรับตัวได้เก่งและไม่ยึดติดคือผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้สูงกว่า และภายใต้วิกฤตมักจะมีโอกาสอยู่เสมอและผู้ที่เฝ้ามองหาเท่านั้นจึงจะมองเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*