หลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ประกาศที่จะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน เพื่อขอคำแนะนำในฐานะเป็นผู้อาวุโสของสังคม จะร่วมมือกันช่วยเหลือประเทศไทยให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง และใช้ความรู้ความสามารถของภาคเอกชนทั้งหมด ด้วยการไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจ ทั้งขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เพื่อรับฟังและรับทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงด้วยตัวเอง เพื่อหาทางออกร่วมกันที่เหมาะสมที่สุด

 

กรณีดังกล่าว ทางธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นภาคส่วนหนึ่งที่เป็นกลไกลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเช่นกัน ต่างมองว่ายังมีหลายมาตรการที่ภาครัฐประกาศมาก่อนหน้านี้  รวมไปถึงมาตรการที่จะยังมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ที่ยังช่วยไม่สุดโต่ง และภาคธุรกิจยังได้รับผลกระทบอยู่ ซึ่งอยากให้รัฐบาลพิจารณาและแก้ไข เพื่อให้ตลาดอสังหาฯฟื้นตัว กระตุ้นกำลังซื้อคนไทยและต่างชาติกลับคืน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินจำนวนหลายแสนล้านบาท เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น prop2morrow จึงได้สะท้อนผ่านความคิดเห็นของ สภาหอการค้าไทย และ 3 นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ดังนี้
นายอธิป พีชานนท์
ชี้รัฐทบทวนผ่อนปรนภาคอสังหาฯ
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และ กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวความคิดของรัฐบาลถือว่าเป็นไอเดียที่ดี หากต้องการได้ข้อมูลตรงจากทุกภาคส่วน  โดยไม่ได้ผ่านองค์กรภาครัฐ  จะพบว่าแต่มหาเศรษฐีแต่ละราย และตัวแทนจากแต่ละองค์กรต่างมีไอเดียที่หลากหลาย และเป็น Conflict Challenge ซึ่งนายกฯต้องทำใจ เพราะบางรายอาจมีประสบการณ์ที่จะเจรจากับนายกฯไม่เหมือนกัน อาจได้วัตถุประสงค์ไม่ตรงกับที่นายกฯต้องการ เพราะแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างเดือดร้อนเหมือนกันหมด ดังนั้นจึงไม่อยากให้นายกฯสร้างความคาดหวัง ซึ่งก็เหมือน “ดาบสองคม” เพราะสมาคมชิกจากแต่ละสมาคมก็จะฝากเรื่องไปกับตัวแทน และต่างมีความคาดหวัง ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ภาครัฐจะสนองให้ได้ทุกกรีณี เพราะอาจจะติดขัดทั้งด้านงบประมาณ ขีดความสามารถ และอาจจะผิดข้อกฎหมายได้  ดังนั้นก่อนที่แต่ละภาคส่วนจะเข้าพบนายกฯควรมี “ระเบียบวาระการประชุม” (Agenda) ว่าจะเจรจากเรื่องใดบ้าง อะไรที่รัฐบาลทำได้ ไม่ได้  ก็เหมือนภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็รู้ขีดความสามารถว่ารัฐบาลทำบางเรื่องให้ไม่ได้

สำหรับในภาคอสังหาฯเองนั้น จากสภาวะที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ ก็อยากให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่อง

ผ่อนปรนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ โดยอาศัยสถาบันการเงินของรัฐเป็นแกนนำในการรณรงค์ให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในทุกกรณี ที่ไม่เข้มงวดจนผิดปกติ

มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV)ควรที่จะมีการเว้นวรรค จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง

เครดิตบูโร ในส่วนของผู้ที่ไม่มีประวัติหนี้เป็นศูนย์ แต่ติดเครดิตบูโร 3 ปี แนะนำให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้ผู้มีรายได้ระดับน้อยปานกลาง สามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้

การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง ควรยืดระยะเวลาออกไปอีกประมาณ 1 ปี เพื่อผ่อนเบาภาระของผู้ซื้อ

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่จะมีการจัดเก็บในเดือนมิถุนายน 2563 ในขณะที่ในช่วงวิกฤตนี้ผู้ประกอบการไม่ค่อยมีรายได้ หากมีการจัดเก็บภาษีฯก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมธุรกิจ ดังนั้นควรเลื่อนการจัดเก็บออกไปประมาณ 1 ปี

วอนรัฐสางปัญหาLTV-ภาษีที่ดินฯ

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวมองว่าภาครัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจะทำให้ได้รับข้อมูลโดยตรงจากผู้ปฏิบัติ และจะมีประโยชน์ต่อภาครัฐเป็นอย่างมาก แต่ก็ควรที่จะมีทีมงานกลั่นกรอง เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง  สำหรับในส่วนของ  3 สมาคมอสังหาฯนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือแจ้งมาจากนายกฯแต่อย่างใด หรือหากมีหนังสือเชิญมา ทั้ง 3 สมาคมฯ ก็คงต้องรวบรวมความคิดเห็นจากสมาชิกก่อน เกี่ยวกับเรื่องที่มีผลต่อส่วนรวมแล้วค่อยนำเสนอภาครัฐอีกครั้งหนึ่ง

“ตอนนี้ทุกค่ายพยายามแก้ปัญหาของบริษัทตัวเอง และใช้เวลาปรับตัว ซึ่งคงจะมีเนื้อหาในเรื่องจริงมาคุยกันอย่างแน่นอน เพราะช่วงวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการทุกคนได้มีเวลาไปดูหน้างานมากขึ้น” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากในมุมส่วนตัว มองว่าที่ผ่านมาภาครัฐยังแก้ไขปัญหาในภาคธุรกิจอสังหาฯไม่ค่อยลงตัวมากนัก โดยเฉพาะเรื่อง

มาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ที่ยังมีอุปสรรคในการซื้อขายอสังหาฯ
-พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ซึ่ง
ยังเห็นด้วยในหลักการ แต่ภาคปฏิบัติก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งกลายเป็น Inventory ของผู้ประกอบการ ทำให้ไม่กล้าก่อสร้างที่อยู่อาศัยมาก เพราะแม้หากยอดขายไม่ดีก็ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯเช่นกัน

-หลังสถานการณ์นี้ปัญหาของผู้ประกอบการ ก็อาจทำให้ไม่เกิดการจ้างงานอีกในส่วนหนึ่ง

ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง คงต้องมีการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยแก้ไขในรายละเอียดใหม่อีกครั้ง

“สถานการณ์โควิด-19 อย่างนี้ไม่เหมือนสวิตซ์ไฟ ซึ่งโควิด-19 อาจจะไม่หายไปในทันที หากไม่ระวัง ตัวเลขผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้นมา เกรงว่าสถานการณ์นี้จะลากยาก ปัญหาคือต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ  เพื่อที่ธุรกิจจะได้ดำเนินการได้อย่างปกติ”

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

แนะปลดล็อก4เรื่องหลัก

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า  เชื่อว่ามหาเศรษฐีไทย ที่นายกฯส่งหนังสือไปเพื่อขอหารือนั้น ตนคิดว่าต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างแน่นอน เพียงแต่คงต้องขอดูนโยบายรัฐก่อน ว่าจะช่วยเหลืออย่างใด  เพราะมหาเศรษฐีบางท่านที่อายุมากแล้วก็อาจไม่ค่อยมี Vision   หรือเทียบเท่า Windows 3.1  เพราะจะรับทราบแต่เพียงธุรกิจของตัวเอง โดยเรียนรู้แค่ประวัติศาสรต์ แต่ไม่มองอนาคต  ส่วนมหาเศรษฐีที่รู้เรื่องเศรษฐกิจก็ต้องให้ทดลองเสนอไอเดียออกมาว่าเหนือสโคปงานได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องนำหลายๆทฤษฎีมาวิเคราะห์ร่วมกัน

สำหรับในส่วนของภาคอสังหาฯนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นภาครัฐส่งหนังสือมาแต่อย่างอย่าง ซึ่งมั่นใจว่าในช่วงแรกคงยังไม่เชิญภาคธุรกิจอสังหาฯอย่างแน่นอน ซึ่งภาครัฐคงเรียงจากลำดับของธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อสามารถช่วยเหลือเยียวยาได้ก่อน ทั้งนี้ในภาคอสังหาฯก็รู้กันอยู่ว่ามี  4  เรื่องหลักที่อยากให้ช่วยเหลือ คือ

จากการที่กรมที่ดินประกาศงดให้บริการในบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าได้ ผู้ประกอบการก็ไม่ได้รับเงิน

สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อโครงการ ทำให้งานก่อสร้างชะงัก และล่าช้า ซึ่งจะส่งผลกระทบล้มเป็นโดมิโน่ อย่างแน่นอน

LTV ก็ยังมีผลกระทบอยู่เช่นกัน ซึ่งอยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขผ่อนคลายกฎเกณฑ์

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่จะเริ่มจัดเก็บในเดือนมิถุนายน 2563 นี้ เหมือนเป็นการซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็อยากให้ภาครัฐเลื่อนการจัดเก็บออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพราะประชาชนยังไม่มีความพร้อม และยังไม่ทราบว่าโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์

ออกมาตรการดันกำลังซื้อระดับกลาง-บนและต่างชาติ

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และถือเป็นเรื่องที่ดี ในช่วงที่ประสบวิกฤตของโลก เชื่อว่าทั้ง 20 มหาเศรษฐีไทยและองค์กรต่างๆจะให้ความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกท่านก็เป็นที่จับตามองอยู่  และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ก็จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์  ในส่วนของสมาคมฯ ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือจากทางภาครัฐแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าคงเป็นอันดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับในอดีต หากใครที่มีกำลังเงินมากๆ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อน ก็จะได้รับการเรียกเข้าพบเพื่อหารือก่อน  ซึ่งที่ผ่านมามหาเศรษฐีเหล่านี้ก็มีการช่วยเหลืออยู่แล้วอยู่แล้ว แต่คงไม่ค่อยได้เปิดเผยเท่าที่ควร แต่การที่นายกฯให้ความสำคัญก็ทำให้พวกเขาเหล่านี้ออกมาช่วยเหลือได้มากขึ้น

สำหรับภาคอสังหาฯนั้น ที่ผ่านมา กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือระดับกลาง-ล่าง ส่วนระดับกลาง-บน จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ดังนั้น

อยากให้ภาครัฐช่วยกระตุ้นให้กลุ่มผู้ซื้อระดับกลาง-บน ออกมากซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ด้วยการพิจารณาออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมต่างๆแบบไม่มีลิมิต  เพราะที่ผ่านมากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับการช่วยเหลือแต่อย่างใด แต่หากภาครัฐมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ก็จะทำให้มีความต้องการซื้อมากขึ้น เพราะดีมานด์กลุ่มนี้ยังมีอยู่

หากสถานการณ์คลี่คลายในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก็อยากให้ภาครัฐเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติได้รับสิทธิวีซ่าอยู่ในประเทศไทยได้ในระยะยาวขึ้น จากเดิม 3 เดือน เป็นไม่เกิน 1 ปี เป็นเวลา 10 ปี  ก็จะช่วยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในประเทศไทยมากขึ้น เพราะอสังหาฯประเทศไทยในปัจจุบันถือว่าราคาใกล้เคียงกับบางเมืองของญี่ปุ่นแล้ว ก็จะช่วยให้มีเงินประมาณแสนล้านบาทเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

โดยที่ผ่านมาชาวต่างชาติจะมีสิทธิ์ซื้อที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดได้ในสัดส่วน 49%  ซึ่งก่อนหน้านี้ Agent จีน เคยมีความต้องการที่อยากได้สัดส่วนชาวต่างชาติถือครองที่อยู่อาศัยได้มากกว่า 49% ในบางโซนนิ่ง แต่ตนในฐานะคนไทยมองถึงความมั่นคงในระยะยาว เห็นว่าสัดส่วนดังกล่าวมีความเพียงพอแล้ว หากยอมให้มีสัดส่วนมากกว่า 49% ก็จะไม่เป็นผลดีในระยะยาว  แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การซื้อที่อยู่อาศัยจากชาวต่างชาติในขณะนี้เป็น 0 จึงอยากให้ภาครัฐออกมาตรการออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อต่างชาติกลับมา

“ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยทุกวันนี้ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคอนโดฯที่สามารถถือครองได้ในสัดส่วน 49% ในขณะที่แทบทุกประเทศส่วนใหญ่จะให้สิทธิ์ชาวต่างชาติถือครองที่ดินในระยะยาวเท่านั้น แต่ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ตามสัดส่วนที่กำหนดได้เหมือนในประเทศไทย หรืออังกฤษ และญี่ปุ่น ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกที่ดีของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีน” ดร.อาภา กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*