คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPP เห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน ปี 2563 – 2570 มูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน

นายประภาศ คงเอียด

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันพุธที่ 15 เมษายน 2563 ผ่านระบบ VDO Conferenceณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1.เห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 (แผนการจัดทำโครงการ PPP) ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ซึ่งได้นำหลักการสำคัญ รวมถึงนโยบายและทิศทางในการพัฒนาประเทศที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินการ ทั้งนี้ ในแผนการจัดทำโครงการ PPP มีรายการโครงการที่ประสงค์จะร่วมลงทุนทั้งหมดรวม 92 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท โดยเป็นโครงการร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) จำนวน 18 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 472,049 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการจัดทำโครงการ PPP ข้างต้นจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนภายใต้แผนดังกล่าว เพื่อลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้จากภาครัฐ ตลอดจนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนจากความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะ

  1. คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเสนอโครงการและการคัดเลือกเอกชน จำนวนรวม 6 เรื่อง ได้แก่

1) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. ….

2) เรื่อง รายละเอียดที่ต้องมีในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการและหลักเกณฑ์ และวิธีการในการนำความเห็นของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน มาประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ พ.ศ. ….

3) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการเสนอโครงการ พ.ศ. ….

4) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน พ.ศ. …

5) เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. ….

และ 6) เรื่อง เงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. ….

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดแนวทางเพื่อรองรับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในแต่ละเรื่องให้เกิดความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ

  1. คณะกรรมการ PPP ได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือ ได้แก่ 1) กรณีโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และ 2) กรณีแนวทางการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*