บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THANA ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาฯขนาดกลาง ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงธุรกิจอสังหาฯเมื่อหลังวิกฤตปี 2540  เดิมชื่อ บริษัท ประสิทธิ์ปิ่นเกล้า จำกัด ภายใต้เครือประสิทธิ์นิเวศน์การเคหะ ซึ่งก่อตั้งโดย “ประสิทธิ์ เสถียรภาพอยุทธ์” เมื่อปี 2528  ช่วงนั้นมีทั้งหมด 5 บริษัท ยึดหัวหาดย่านนนทบุรี พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮาส์ จนกระทั่ง “ประสิทธิ์ เสถียรภาพอยุทธ์” ได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2538  จึงเป็นหน้าที่ของทายาทรุ่น 2 ที่ต้องมาสานต่อธุรกิจตั้งแต่ปี 2545 จวบกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในจำนวนนี้คือ “สุทธิรักษ์ เสถียรภาพอยุทธ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) จนนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2552 ได้สะท้อนภาพผ่านทีมงาน prop2morrow ถึงปัญหา อุปสรรค และทิศทางการดำเนินธุรกิจ มาจนถึงปัจจุบัน

หลังนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดฯmai เคยผ่านวิกฤต?

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมไม่ทัน แต่ผมมาทันวิกฤตอุทกภัยปี 2554 ซึ่งผ่านมาอย่างหนักหนาสาหัส เพราะมี 6 โครงการที่อยู่ระหว่างการเปิดขายและพัฒนาในพื้นที่ จ.นนทบุรี ถึง 6 โครงการ ประสบปัญหาน้ำท่วมในโครงการ ส่งผลให้ในช่วงปีนั้นก็ชะลอการเปิดตัวอีก 2 โครงการใหม่ออกไป ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้แก้ปัญหาและผ่านมาได้ด้วยดี เนื่องจากในขณะนั้นมีกระแสเงินสดที่ดี และสถาบันการเงินก็ยังมีความมั่นใจในศักยภาพ จึงสามารถประคองบริษัทฯไปได้

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้รับบทเรียน และรับมือ?

เทียบวิกฤตโควิด-19 ไม่ถึงกับจู่โจมเหมือนช่วงน้ำท่วม แต่จะค่อยๆซึมลึก โดยในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา(มกราคม-มีนาคม 2563)  ยอดการเข้าเยี่ยมชมโครงการของลูกค้าหายไปถึง 50% แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้มีการปรับรูปแบบสินค้า และราคาลงมา 15-20% และได้ผลตอบรับดีมาระดับหนึ่ง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หนักมากขึ้น ทุกอย่างก็ชะลอตัวหมด   แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทขนาดกลาง ก็มีการเตรียมการรับมือในเรื่องสุขอนามัยทั้งหมดในทุกโครงการ จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขการเข้าเยี่ยมชมโครงการของลูกค้าเริ่มดีขึ้นมา ทั้งนี้เป็นเพราะทุกคนเริ่มปรับตัวได้ และบ่งบอกว่าเรียลดีมานด์ ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัย  โดยปัจจุบันบริษัทฯมีที่อยู่อาศัยที่เปิดขายอยู่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี อยู่ 3 โครงการ จากทั้งหมด 4 โครงการ และโครงการที่ 5 ซึ่งพัฒนาที่จ.อุดรธานี ก็ประสบปัญหา เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จากการที่ภาคเกษตรกรประสบปัญหา และมาประสบกับโควิด-19 อีก ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ไปกกว่าเดิม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯได้พยายามปรับแผนจากบ้านเดี่ยว 2 ชั้น เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว

“โควิด-19 ทำให้การทำงานมีการปรับตัวได้ไว เพราะเราเป็นองค์กรขนาดกลาง และ ทิ้งไว้ให้ว่าไลฟ์สไตล์ลูกค้าเปลี่ยนไป คือ ทำงานที่บ้านมากขึ้น โดยต่อไปต้องปรับเรื่องการออกแบบบ้าน ให้รับได้ 3  Generation ,มีมุมทำงานที่เป็นส่วนตัว,พื้นที่ส่วนกลางที่เป็น Coworking Spaceรวมไปถึงการทำพื้นที่โซนนิ่งแชร์ริ่ง โดยให้ลูกค้าได้แชร์ร่วมกัน  มีการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับลูกบ้านในโครงการมากขึ้น ซึ่งจะเห็นความชัดเจนได้ในปลายปีนี้”

การเป็นบริษัทขนาดกลางมีอุปสรรคและโอกาสในการขยายการลงทุน?

ต้องยอมรับว่าการเป็นบริษัทขนาดกลาง ทำให้มีอุปสรรคต่อการลงทุนพอสมควร เนื่องจากมีเม็ดเงินในการลงทุนน้อยที่จะขยายโครงการได้มาก เพราะทุนจดทะเบียนที่มีน้อย เพียง 329 ล้านบาท (ชำระแล้ว 253 ล้านบาท) ขณะเดียวกันที่ผ่านมาแบรนด์ของธนาสิริยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะรับรู้แบรนด์แต่ในพื้นที่จ.นนทบุรี  แต่หลังจากที่ได้พันธมิตรใหม่มาร่วมทุนก็มีโอกาสในการพัฒนาโครงการที่ใหญ่และสร้างการรับรู้แบรนด์ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลและเจรจากับพันธมิตรในกลุ่มต่างๆด้วยเช่นกัน

แต่ขณะเดียวกันการที่บริษัทไม่เปิดโครงการใหม่ ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ทำให้ไม่มีหนี้สินมาก  เพราะไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้มีโอกาสที่จะขยายไปยังตลาดใหม่ๆและมีทางเลือกใหม่ๆมากขึ้น เพราะที่อยู่อาศัยยังถือเป็นปัจจัยสี่ ซึ่งหลักๆยังเน้นแนวราบที่มีความเชี่ยวชาญอยู่ และเป็นความโชคดีที่บริษัทฯเน้นพัฒนาโครงการแนวราบมาโดยตลอด จึงมีเวลาที่จะหาทำเล และรูปแบบโครงการใหม่ๆ ทั้งพัฒนาเองและการเทกโอเวอร์ หรือร่วมทุนกับเจ้าของที่ดิน หรือ บริหารโครงการ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาก็มีเจ้าของโครงการนำมาเสนอ แต่ราคาที่เสนอยังไม่เหมาะสม และทำเลยังไม่ค่อยมีศักยภาพ เชื่อว่าช่วงโควิด-19 ระบาด น่าจะมีโอกาสขยายช่องทางตลาดได้มากขึ้น โดยไม่จำกัดรูปแบบ  โดยโครงการที่ต้องการต้องเป็นระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป รัศมีจากถนนใหญ่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร โดยไม่จำกัดโซน

มีการปรับเปลี่ยนประธานกรรมการคนใหม่ เป็นนัยว่า “ธนาสิริ”จะปรับโครงสร้างใหม่?

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 บริษัทฯได้ดึง “ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ  ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในบริษัทชั้นนำกว่า 40 ปี ทั้งงานด้านการเงินการธนาคาร งานฟื้นฟูกิจการของรัฐวิสาหกิจ และงานบริหารธุรกิจภาคเอกชน อดีตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน)  เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับกองทุนฟื้นฟู ไม่ให้เกิดความเสียหาย เมื่อขายหุ้นคืนหุ้น ปัจจุบัน ท่านยังได้ทำงานให้กับสภากาชาดไทย ในตำแหน่ง กรรมการจัดการและผู้อำนวยการสำนักงานการคลัง สภากาชาดไทย กับธนาสิริฯนั้นเพราะเดิมเคยใช้บริการนครหลวงไทยฯมากก่อน  และมีสายสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด ประกอบกับในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มบริษัท อนาบูกิ โคซัน จำกัด จากญี่ปุ่นเข้ามาเจรจาร่วมทุน และเห็นว่านายชัยวัฒน์ มีประสบการณ์ด้านการเงิน การปรับโครงสร้างต่างๆ และมีประสบการณ์ด้านการทำงานกับชาวญี่ปุ่น ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับการเติบโต จึงทำให้ช่วยตอบโจทย์การดำเนินงานได้เป็นอย่างดี

“ ผมเชื่อมั่นว่า คุณชัยวัฒน์ในฐานะประธานกรรมการ จะช่วยนำพาองค์กรของเราให้เจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมั่นคงยั่งยืนต่อไป”

ส่วนการขยายแผนธุรกิจในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้งภายใน 2-3 เดือนนี้  ซึ่งจะต้องมีการปรับโครงสร้างแผนการดำเนินธุรกิจว่า จะมุ่งเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มใด สินค้าระดับราคาเท่าไหร่ และปีถัดไปก็คงเป็นในการการพิจารณาปรับโครงสร้างทางการเงิน ว่าจะเพิ่มทุน เพื่อขยายไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพราะปัจจุบันได้มีการร่วมทุนกับพันธมิตรใหม่ ซึ่งรายละเอียดการปรับโครงสร้างยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ตอนนี้ผมยังตอบได้ไม่ชัดเจนมาก

แต่จะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2564

 และการร่วมทุนกับกลุ่ม “อนาบูกิ”

จะทำให้แข็งแกร่งขยายงานได้มากขึ้น” 

การร่วมทุนกับ “อนาบูกิ โคซัน” และมีทิศทางการดำเนินงาน?

การร่วมทุนกับบริษัท อนาบูกิ โคซัน จำกัด เป็นกลุ่มบริษัทภายใต้ชื่อ “Anabuki Kosan Group” ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่น ที่ดำเนินธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในจังหวัดคากาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นกว่า 50 ปีที่โฟกัสเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย สังคมผู้สูงวัยอย่างครบวงจร เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาตตะวันตกของญี่ปุ่น  โดยธุรกิจคอนโดฯ มียอดขายเป็นอันดับ6 ของประเทศ  ซึ่งธนาสิริ เป็นฝ่ายได้รับการทาบทามในการร่วมทุนในครั้งนี้ เนื่องจากทาง “อนาบูกิ”ได้ทำการศึกษาและสำรวจข้อมูลมาแล้ว พบว่า นนทบุรี” เป็นโจทย์ที่ดีในการอยู่อาศัย และต้องการร่วมทุนกับบริษัทขนาดกลาง และเจาะจงที่จะร่วมทุนกับธนาสิริฯเท่านั้น ซึ่งมองแล้วว่ากลุ่มทุนดังกล่าวเป็นบริษัทที่พัฒนาโครงการอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆที่พันธมิตรที่มาร่วมทุนจะมีหลากหลายธุรกิจ ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางใดทางหนึ่ง  จึงทำให้มองว่าหากได้ร่วมทุนจะทำให้ได้ Know-how มาช่วยเติมเต็มได้มากขึ้น

ดังนั้นจึงได้ก่อตั้ง บริษัท อนาบูกิ ธนาสิริ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยธนาสิริ ถือหุ้น 50%  บริษัท อนาบูกิ โคซัน จำกัด ถือหุ้น 49% ขณะที่บริษัท ไทยโคโนอิเกะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ไทยโคโนอิเกะฯ) ถือหุ้น 1% และได้ซื้อที่ดินแปลงใหม่บริเวณถนนราชพฤกษ์-สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ พื้นที่ 13 ไร่เศษ มีแผนจะพัฒนาบ้านแฝด  พร้อมขาย ภายใต้แบรนด์ “อนาบูกิ-ธนาฮาบิแทท” แบ่งการพัฒนาเป็น 4 เฟสๆละ 20-20 ยูนิต ขนาด 38-60 ตารางวา  ราคา 5-8 ล้านบาท รวมจำนวน 88 ยูนิต มูลค่า 500-600 ล้านบาท  คาดว่าจะสามารถเปิดพรีเซลได้ในไตรมาส 3/2563

“ถือเป็นนโยบายของบริษัทฯตั้งแต่แรก เพื่อให้ลูกค้าเข้าอยู่ได้เลย และไม่มีการก่อสร้างมารบกวน โดยโนว์ฮาวเป็นของบริษัทฯทั้งหมด  ในเบื้องต้นกลุ่มอนาบูกิ จะเพียงนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนเท่านั้น แต่ถ้าหากธนาสิริต้องการอะไรความช่วยเหลือ ทางอนาบูกิ ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ และอาจเตรียมพื้นที่บางส่วนในการดูแลเรื่องสุขภาพสำหรับลูกค้าในโครงการ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งในคลับเฮาส์ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยได้”

ทั้งนี้ในปี 2562 ที่ผ่านมาธนาสิริฯมียอดรับรู้รายได้ที่ 393.5 ล้านบาท (ลบ.)  เนื่องจากไม่มีการเปิดตัวใหม่ คาดว่าในปีนี้จะเติบโตขึ้นประมาณ 15-20% มูลค่าคงเหลือรอขายโดยรวมประมาณ  1,300 ล้านบาท(ลบ.) คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ ประมาณ  30- 40%

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*