• สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยที่ท่องเที่ยวภายในประเทศหดตัวลงอย่างมาก จากการที่หลายประเทศได้ดำเนินมาตรการห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออกประเทศ ความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงการที่สายการบินจำนวนมากหยุดทำการบินชั่วคราวโดยเฉพาะในเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงที่เหลือของปี 2563 (ค.ศ.2020 )หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายแต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติตราบที่ยังไม่มีวัคซีน
  • จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่หดตัวลง ทำให้ EIC คาดว่าค่าห้องพักเฉลี่ยต่อห้องพักที่ขายได้ (RevPAR) ของธุรกิจโรงแรมไทยจะลดลง 55-65% ในปี 2020 ซึ่งจะทำให้โรงแรมเกือบทุกแห่งประสบกับภาวะขาดทุนจากการดำเนินงาน
  • 3 กลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจโรงแรมในภาวะที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวลงอย่างมาก ได้แก่ 1) การเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่น 2) การลดค่าใช้จ่าย และ 3) การชะลอค่าใช้จ่ายออกไป นอกจากนี้ ภายหลังจากที่โรค COVID-19 หยุดแพร่ระบาด ผู้ประกอบการอาจเพิ่มช่องทางการหารายได้จากส่วนบริการอื่น ๆ ของโรงแรมเพื่อลดการพึ่งพารายได้ค่าห้องพักในกรณีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหดตัวลงอีกในอนาคต

สถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยในปี 2563 หดตัวลงอย่างมาก โดยตั้งแต่ที่โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนรัฐบาลจีนต้องดำเนินมาตรการไม่อนุญาตให้บริษัทนำเที่ยวสัญชาติจีนนำนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2563 เป็นต้นมา จำนวนผู้โดยสารต่างชาติขาเข้าผ่านสนามบินหลัก 5 แห่งของไทยก็หดตัวลงในทันที โดยมีอัตราการหดตัวที่ระดับประมาณ 45-50% YOY ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จำนวนผู้โดยสารต่างชาติฯ จะหดตัวลงรุนแรงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เริ่มขยายวงกว้างขึ้นในประเทศหรือภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกนอกเหนือจากจีน อาทิ เกาหลีใต้ อิหร่าน กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนลดความรุนแรงลงมาก (รูปที่ 1) ในขณะที่สถานการณ์การระบาดในไทยเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 เรื่อยมา ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงและสนามมวย

รูปที่ 1 : จำนวนผู้โดยสารต่างชาติขาเข้าผ่านสนามบินหลักของไทย 5 แห่ง หดตัวลงสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลกที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ WHO, NHC, CDC, ECDC และสำนกงานตรวจคนเข้าเมือง

ในกรณีฐาน (base case) EIC คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2563 จะหดตัวลง 67%YOY จาก 39.8 ล้านคนในปี 2562 (ค.ศ.2019) เหลือเพียง 13.1 ล้านคน จากการที่รัฐบาลของหลายประเทศดำเนินมาตรการห้ามประชาชนของตนเองเดินทางออกนอกประเทศ การยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากของสายการบินทั่วโลก และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตราบที่ยังไม่มีการผลิตยาต้านไวรัสหรือวัคซีนเพื่อทำการรักษาและป้องกันโรคอย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ สภาวะศรษฐกิจที่โลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวต่างชาติ และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในท้ายที่สุด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเลือกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของตนเอง หรือในประเทศละแวกใกล้เคียงภายในภูมิภาคของตนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลง

รูปที่ 2 : อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 ในกรณีต่าง ๆที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นอกจากนี้ EIC ยังคาดว่าจำนวนทริปค้างคืนภายในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยจะหดตัวลง 35%YOY จากจำนวน 130 ล้านทริปในปี 2562 มาอยู่ที่ 85 ล้านทริปในปี 2563 จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศซึ่งทำให้ประชาชนงดเว้นกิจกรรมการท่องเที่ยว สังสรรค์และสันทนาการ รวมถึงการหยุดชะงักของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เช่น การเลิกจ้าง การให้หยุดงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และการลดค่าจ้างลงชั่วคราว ซึ่งต่างก็ทำให้รายได้ของคนไทยลดลงและทำให้การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศลดลงในที่สุด (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : จำนวนทริปค้างคืนของนักท่องเที่ยวไทยลดลงจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศ และรายได้คนไทยที่ลดลงอย่างฉับพลันที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้จำนวนทริปค้างคืนของนักท่องเที่ยวไทยที่หดตัวลงจะส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หวังจะพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเพื่อประคับประคองธุรกิจในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลงอย่างรุนแรงดังเช่นในปัจจุบัน

จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลง ทำให้ EIC คาดว่าค่าห้องพักเฉลี่ยต่อห้องพักที่ขายได้ (Revenue per Available Room, RevPAR) เฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมไทยจะลดลง 55-65% YOY ในปี 2563 โดยคาดว่าอัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) เฉลี่ยทั่วประเทศของปี 2563 จะลดลงราว 35-40% ในขณะที่ค่าห้องพักเฉลี่ย (Average room rate) จะลดลง 20-25% ซึ่งจะทำให้โรงแรมเกือบทุกแห่งประสบกับสภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานและอาจมีโรงแรมบางแห่งจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลาง-เล็กที่มีเงินทุนไม่มากนักและไม่สามารถทนต่อสภาวะขาดสภาพคล่องติดต่อกันได้ยาวนานหลายเดือน

นอกจากนี้ โรงแรมบางแห่งอาจเลือกที่จะหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนจากการดำเนินงานให้น้อยที่สุดในสภาวะที่รายได้ค่าห้องพัก (room revenue) และรายได้จากบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ห้องพัก (non-room revenue) เช่น ภัตตาคาร ห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง สปา ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ฯลฯ มีการหดตัวลงอย่างมากจนไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมจากการเปิดให้บริการในปัจจุบัน โรงแรมหลายแห่งได้รักษาสภาพคล่องและสภาพการดำเนินงานของธุรกิจระหว่างรอให้จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้าพักกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ผ่าน 3 แนวทางหลัก ดังนี้

  • การสร้างรายได้และสภาพคล่องจากการบริการที่มีอยู่ในโรงแรม เช่น
    • การลดค่าห้องพักลงอย่างมากเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนที่โรค COVID-19 จะระบาดในไทย
    • การให้บริการอาหารแบบสั่งกลับบ้านและบริการ food delivery
    • การให้บริการห้องพักและบริการอื่น ๆ ที่จำเป็นแก่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการแยกอยู่อาศัยจากครอบครัวเพื่อกักกันโรคโดยคิดค่าห้องพักเป็นรายสัปดาห์
    • การให้บริการห้องพักแก่ผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงตามโครงการของกระทรวงสาธารณสุข
  • การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น
    • การปิดพื้นที่ให้บริการบางส่วนหรือหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานต่าง ๆ
  • การชะลอค่าใช้จ่ายบางประเภทออกไป เช่น
    • การยกเลิกการจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอก
    • การเจรจาขอยืดเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมที่มีการสำรองเงินทุนหรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อาจเร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาโรงแรมในช่วงที่ผู้ใช้บริการมีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการปิดห้องพักหรือพื้นที่บางส่วนเพื่อปรับปรุงโรงแรมลดต่ำลงกว่าในสภาวะปกติ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในช่วงหลังจากที่การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาความรุนแรงลงและจำนวนผู้เข้าพักเริ่มฟื้นตัวขึ้น

นอกเหนือจากผลกระทบจากโรค COVID-19 แล้ว ธุรกิจโรงแรมของไทยจะยังเผชิญกับการแข่งขัน
ที่รุนแรงขึ้นจากปริมาณห้องพักใหม่ที่จะเร่งตัวในอนาคต
จากข้อมูลพื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ต ทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร พบว่าพื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ตทั่วประเทศในปี 2562 เพิ่มขึ้น 12%YOY จากระดับประมาณ 2.1 ล้านตารางเมตรในปี 2561 (ค.ศ.2018) มาอยู่ที่ 2.4 ล้านตารางเมตรในปี 2562 ซึ่งถือระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 (ค.ศ.2011) และถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยพื้นที่อนุญาตก่อสร้างฯ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาตใต้และภาคตะวันออก ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้งของเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 : พื้นที่อนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ตทั่วประเทศในปี 2562 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลพื้นที่อนุญาตก่อสร้างฯ เป็นรายจังหวัดจะพบว่า จ.ภูเก็ตมีพื้นที่อนุญาตก่อสร้างฯ สูงที่สุดในปี 2562 และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลจากการที่กฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับใหม่ (อยู่ระหว่างกระบวนการร่าง) มีแนวโน้มที่จะนำหลักเกณฑ์อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor area ratio, FAR) มาบังคับใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารเนื่องจากกฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเพียงความสูงของอาคารเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีการเร่งยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทโรงแรมและรีสอร์ตตามกฎหมายผังเมืองฉบับปัจจุบันไว้ก่อน แล้วรอติดตามแนวโน้มของกฎหมายผังเมืองรวม จ.ภูเก็ต ฉบับใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2564-2565 (ค.ศ.2021-2022 )โดยใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจะมีอายุ 2 ปีนับจากวันที่ราชการออกให้ และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมมีอายุทั้งหมด 6 ปี

จากจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้าพักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หดตัวลงอย่างมากจากสถานการณ์
การระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้โรงแรมที่วางแผนเปิดให้บริการในปี 2563-2564 มีเวลาปรับแผนการก่อสร้างการออกแบบตกแต่งภายใน หรือการเลื่อนกำหนดการเปิดให้บริการออกไปเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกครั้งที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ปริมาณห้องพักหรือที่พักแรมประเภทอื่นที่นำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ในการพักแรม เช่น บ้านพักแบบ pool villa ที่สามารถรองรับผู้เข้าพักได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงห้องพักที่ให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม Vacation rentals เช่น Airbnb ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมืองท่องเที่ยวหลักเกือบทุกแห่งของไทยและเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตทั่วไปมากขึ้น (รูปที่ 5) ซึ่งห้องพักทั้งสองประเภทดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัว เนื่องจากห้องพักประเภทนี้มักมีราคาต่อหัวที่ต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกับโรงแรมหรือรีสอร์ตทั่วไป และมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างเข้าพักร่วมกันอย่างเป็นส่วนตัว ทั้งนี้โดยสัดส่วนจำนวนห้องพักประเภทนี้ต่อจำนวนห้องพักทั้งหมดในสูงถึง 20-25% ในบางเมืองของแหล่งท่องเที่ยว

รูปที่ 5 : สัดส่วนจำนวนห้องพักที่ให้เช่าผ่านแพลตฟอร์ม vacation rentals อาจสูงถึง 20-25%
ของจำนวนห้องพักทั้งหมดในบางเมืองท่องเที่ยว
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ AirDNA

EIC มองว่าธุรกิจโรงแรมควรปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหลังจากที่เหตุการณ์การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาลง โดยเฉพาะในแง่การกระจายรายได้ เพื่อให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ผู้ประกอบการอาจพิจารณาถึงการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยเพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่อาจกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า โดยอาจดำเนินกิจกรรมการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล สื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงแรมอาจมองถึงการกระจายรายได้โดยการสร้างรายได้จากส่วนบริการอื่น  ๆภายในโรงแรม (non-room revenue) เช่น การให้บริการอาหารแบบ food delivery และ catering แก่องค์กรภายนอก รวมถึงการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถสมัครสมาชิกสปาและฟิตเนสเซ็นเตอร์เพื่อสร้างรายได้ประจำมากขึ้น สอดรับกับเทรนด์ wellness lifestyle ของคนรุ่นใหม่

ภายหลังจากที่การระบาดของโรค COVID-19 บรรเทาลงและการจองห้องพักเริ่มกลับมาอีกครั้ง ผู้ประกอบการควรทำความสะอาดพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโรงแรม พร้อมทั้งสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและผู้ที่จองห้องพักเกี่ยวกับการทำความสะอาดของโรงแรม รวมถึงกลไกและมาตรฐานการดูแลสุขลักษณะที่เหมาะสมในการให้บริการ เช่น การบริการห้องอาหาร กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าพักมั่นใจว่าโรงแรมมีความสะอาดและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับโรงแรม

บทวิเคราะห์จาก… https://www.scbeic.com/th/detail/product/6759

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ :  ปุลวัชร ปิติไกรศร (pullawat.pitigraisorn@scb.co.th)
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line: @scbeic

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*