รฟท.พร้อมเปิดสถานีกลางบางซื่อต้นปี64

ลุ้นบอร์ดเคาะแนวทางเลือกการบริหารสถานีพรุ่งนี้(19 มี.ค.)

วันนี้ (18 มี.ค. 63) เวลา 09.30 น. ณ สำนักงานก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต การรถไฟแห่งประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าสถานีกลางบางซื่อ โดยมี นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) พร้อมด้วยวิศกรฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการฯ และพื้นที่ต่างๆ ในสถานีกลางบางซื่อ

นายวรวุฒิ กล่าวว่า  สถานีกลางบางซื่อเป็นโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เพื่อทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถานีรถไฟต้นทางของรถไฟวิ่งทางไกล รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังเป็นสถานีศูนย์กลางของรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย และยังเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2556 พร้อมเปิดใช้งานในปี 2564 สถานีมีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตารางเมตรหรือตร.ม. อาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร

ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.00 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา

ชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างโครงการแต่ละสัญญามีความก้าวหน้า ดังนี้

สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ จาก กม.6+000 ถึง กม.12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ย่านจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ ตลอดจนถนน สะพานยกระดับเข้า-ออกสถานี และระบบระบายน้ำ ซึ่งมีความคืบหน้าคิดเป็น 98.62 %

สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย สถานี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว

สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จคิดเป็น 73.53% สถานีกลางบางซื่อ(Grand Station) ที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างถึง 98 %  โดยภายในสถานี ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่รองรับได้ถึง 1,624 คัน ชั้น 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้นลอย มีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม. เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม ชั้นที่ 2 มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟความเร็วสูง 12 ชานชาลา

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่มีพื้นที่ 186,030 ตร.ม. มีบึงน้ำขนาด 14,000 ตร.ม. โดยเป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้ง บริษัทเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรบุคลากร ในช่วงแรก 773 อัตรา โดยมาจากการโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พนักงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ส่วนทางเลือกในการบริหารสถานี รฟท. มีแนวทางเลือกอยู่หลากหลายแนวทาง เช่น รฟท. ดำเนินการบริหารงานสถานีด้วยตนเองทั้งหมด จัดตั้งบริษัทลูกให้ดำเนินการแทน เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน จัดจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร หรือให้สิทธิ์เอกชนเป็นผู้ดำเนินการและจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุดจะมีการนำเสนอแนวทางเลือกเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในวันพรุ่งนี้( 19 มี.ค.2563)สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2564 โดยคาดการณ์ผู้โดยสารที่ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อในปี 2564 จำนวน 208,000 คน-เที่ยว/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2575 ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*