Prop2morrow สำรวจและสอบถามผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เอเจนซี่ และนักวิเคราะห์ถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่มองแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ยังชะลอตัว 6-8 เดือน จากผลกระทบของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาตอกย้ำสร้างแรงกดดันจากเดิมที่สถานการณ์ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้วจากการชะลอตัวของของเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่ออุปสงค์ (Demand)ผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือหากทางการมีการประกาศยกระดับเป็นเฟส 3 หรือระยะที่ 3 ของการระบาดที่ว่ากันว่าอย่างช้าถ้าคุมไม่อยู่คาดไม่เกินเมษายนนี้ เข้ามาแน่ ระยะที่ 3 หากเป็นเช่นนั้นต่างก็บอกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวที่ยาวนานเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม “อุตสาหกรรมอสังหาฯ(อาจ)ติดลบ !” ในปีนี้

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า เดิมเมื่อช่วงต้นปี 2563 ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดว่าตลาดโดยรวมในกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะทรงตัวหรือเป็นบวกนิดหน่อย แต่อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบเชิงลบต่างๆที่เกิดขึ้น เบื้องต้นทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯประเมินว่าตลาดอสังหาฯปริมณฑล ในปี 2563 น่าจะติดลบ 10% โดยหน่วยโอนกรรมสิทธิ์น่าจะอยู่ที่ 171,000 หน่วย จากปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 198 ,000 หน่วย โดยคอนโดมิเนียมติดลบมากสุดเมื่อเทียบกับตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ  จากปี 2562 ที่มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมอยู่ที่ 98,000 หน่วย ลดลงเหลือจำนวน 89,000 หน่วย ขณะที่ที่อยู่อาศัยแนวราบน่าจะให้เคียงกับปีก่อนคือ 99,000 หน่วย หรือหากเพิ่มก็ไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มผู้บริโภคต่างชาติเหมือนกับตลาดคอนโดมิเนียม ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯขยายและหันมารุกที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น

เพิ่มแผนตั้ง “งบเฉพาะกิจ”ควบคู่ “วอรูม”เกาะติดระบาดไวรัสโควิด-19

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต่างมองว่ามีความเป็นไปได้มากที่ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยน่าจะติดลบ รวมถึงคงมีการปรับแผนการดำเนินงานใหม่ ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ หันมาเน้นอัดโปรโมชั่นมากกว่าเดิมที่เคยให้ลูกค้าเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจโอนกรรมสิทธ์ของลูกค้าให้เร็วขึ้นหรือให้โอนตรงตามกำหนดที่ระบุในสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้มีกระแสเงินสดเข้ามาสู่บริษัทให้ได้มากเท่าที่จะทำได้ รวมถึงมีการปรับเป้ายอดขายและรายได้ลงตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มมาตรการต่างเข้าไปใหม่จากที่ประกาศไว้เมื่อช่วงต้นปี

นายปิยะ ประยงค์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท – แวลู บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS กล่าว่า สถานการณ์การขายที่อยู่อาศัยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังอยู่ในเกรณฑ์ดี แต่พอมาถึงเดือนมีนาคมนี้ การขายเริ่มชะลอตัว ซึ่งหากทางการ(รัฐบาล)ประกาศยกระดับเป็นเฟส 3 ในเร็วๆนี้หรือเดือนเมษายน 2563 ยอดซื้อขายที่อยู่อาศัยจะหายไปไม่น้อยกว่า 50 % ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการขายในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้น่าจะต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี และคาดว่าตลาดน่าจะชะลอตัวอย่างน้อย 6-8 เดือนหรืออาจมากกว่านั้น

ด้วยปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้น  ล่าสุด บริษัทฯได้จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการ 2 แห่งคือ ที่สำนักงานใหญ่อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก และที่นวนคร โรงงานพรีคาสท์เพื่อคัดกรองคนที่จะเข้าตึกหรืออาคาร และติดตามสถานการณ์โรคระบาดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้จัดตั้ง “งบเฉพาะกิจ” ขึ้นมาเพื่อดูแลพนักงานที่ประจำอยู่ที่ไซต์งาน และลูกค้าที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ประกาศยกระดับเป็นเฟส 3 ห้ามออกนอกสถานที่ รวมถึง(อาจ)มีการหยุดงานก่อสร้างโครงการ

ขณะที่นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN ถ้ามีการประกาศยกระดับเป็นเฟส 3 มาเมื่อไหร่ส่วนตัวมองว่าปี 2563 ตลาดอสังหาฯ “ติดลบ” แน่นอน ส่วนจะ “ติดลบ” มากน้อยแค่ไหนนั้นอยู่กับสถานการณ์ของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 มีความยืดเยื้อนานแค่ไหน เดิมคาดการณ์กันว่าผลกระทบจะช่วงสั้นพอครึ่งหลังของปีก็จะดีขึ้น ถึงวันนี้ผมไม่อยากคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น โควิด-19 จะหยุดเมื่อไหร่ ถ้าลากยาวไปอีก 5-6 เดือน ทุกอย่างก็หยุดกว่าตลาดจะกลับมาและเริ่มตั้งตัวได้ก็ไตรมาส 4”แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ตั้ง “งบพิเศษ” ประมาณ 20 ล้านบาทสำหรับดูแลพนักงานที่ดูแลลูกค้าในแต่ลโครงการซึ่งมีอยู่กว่า 180 โครงการ อีกทั้งกำลังจะจัดตั้ง “วอรูม” เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้บริษัทฯยังได้ปรับกลยุทธ์การขายใหม่ผ่านระบบผ่านระบบโทรศัพท์ (Telesales) เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการประเดิมการขายโครงการ “ลุมพีนี เพลส เตาปูน อินเตอร์เชนจ์” ผ่านระบบ Telesales ปรากฎว่าผลตอบรับค่อนข้างดีมาก ** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>LPN สร้างแพลตฟอร์มขายใหม่นำร่อง“ลุมพีนี เพลส เตาปูน ฯ” กวาดยอด 70 %

นอกจากนี้บริษัท เอพี(ไทยแลนด์)จำกัด(มหาชน) หรือ AP ได้ ตั้งทีม “เฉพาะกิจ” เฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ด้วยเช่นกัน โดยนายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี(ไทยแลนด์) กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการตั้งทีม “เฉพาะกิจ” เฝ้าติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยนโยบายเบื้องต้นจะเป็นในระดับการป้องกัน คือ ห้ามพนักงานเดินทางไปต่างประเทศ หรือหากเดินทางไปแล้วก็ต้องรับผิดชอบตนเองด้วย ขณะเดียวกันภายในองค์กรก็มีการดูแลในเรื่องสุขลักษณะในทุกชั้น ทุกแผนก ให้มีความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรค อีกทั้งทีมงานยังมีการประชุมเพื่ออัพเดทสถานการณ์ทุกวันอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) หรือ  SPALI  โดยนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯยังดำเนินการทุกกิจกรรมทางการตลาดอย่างปกติ แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นมีผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอย่างแน่นอน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการให้ทีมงานรวบรวมข้อมูลจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อนำเข้าที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ (13 มีนาคม2563)

นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯยังเดินหน้าในทุกกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การดำเนินการยากขึ้นก็ตาม บริษัทฯเน้นการทำตลาดแบบออนไลน์ให้มากขึ้น

SENA ออกมาตรการ”SENA Zero COVID”รับมือ

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA  กล่าวว่า ปัจจุบันเสนาฯมีการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์โควิด-19 ที่เรียกว่ามาตรการ “SENA Zero COVID” โดยศึกษาจากผลกระทบในประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 แล้ว เช่น อิตาลี, เกาหลีใต้, อิหร่าน และเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นต้น โดยสรุปเป็นแผนงานจากผลกระทบใน 6 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มพนักงาน , กลุ่มลูกค้า ,กลุ่ม Supply Chain,ช่องทางจำหน่าย, แผนการลงทุน รวมถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของบริษัทฯยังเป็นไปตามแผน พร้อมทั้งจะเร่งช่วยลูกค้า โอนกรรมสิทธิ์ และขอสินเชื่อมากขึ้น ด้านการก่อสร้างหากซัพพลายเออร์ไม่สามารถหาสินค้าได้มารองรับงานก่อสร้างได้ทันในช่วงสภาวะการณ์เช่นนี้คงส่งผลให้งานก่อสร้างชะลอตัว ก็อาจจะต้องมีการเจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และลูกค้า ถึงสาเหตุความล่าช้า

“บริษัทฯเองก็มีการเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ทุกชั่วโมง และพร้อมปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอดอยู่แล้ว” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว

ซื้อประกันฯโควิด-19คุ้มครองพนง.-ลูกค้า

นายชยพล หรรรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ทำให้บริษัทฯให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จึงได้ซื้อประกันภัย โควิด-19  จากสินทรัพย์ประกันภัย ในเครือบิวตี้ เจมส์ มอบให้กับพนักงาน และผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการของอัลติจูดฯ(กรุ๊ปละ 1 คนเท่านั้น)  รวมไปถึงลูกค้าที่กำลังโอนกรรมสิทธิ์ และโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วในทุกโครงการของบริษัทฯ ในวงเงินประกัน 50,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลยกระดับประกาศการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งในปี 2563 นี้บริษัทฯมีแผนที่จะเปิดตัว 2 โครงการแนวราบในครึ่งปีหลัง 2563 หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย อาจจะต้องชะลอการเปิดตัวออกไปในปี 2564

ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา ยอดขายบริษัทฯยังดีอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ได้ปรับรูปแบบการทำตลาดผ่านระบบออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มาก

ด้านนางสาววาริธร ศิริสัตยะวงศ์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯไทย ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบที่ยาวต่อเนื่องมาจากปี 2562 อยู่แล้ว ส่งผลให้การซื้อขายชะลอตัวลง ยิ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ก็จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น ซึ่งในช่วง1-3 เดือนนี้ (มีนาคม-พฤษภาคม)ต้องติดตามสถานการณ์ หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็ทำให้สถานการณ์ในครึ่งปีหลัง 2563 ดีขึ้น

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>7ยักษ์อสังหาฯปรับเกมรับมือปัจจัยลบปี’63 สร้างความอยู่รอด!

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*