แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่นฯ รับพิษไวรัสโควิด-19  กระทบทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจเพื่อการค้า ระบุ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” อ่วมสุดนักท่องเที่ยวลดฮวบวเหลือ 15,000-18,000คน/วัน เตรียมประชุมบอร์ดเพื่อให้ความช่วยเหลือมอบส่วนลดค่าเช่าตามสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือน ประกาศแผนปี63 อัดงบลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกับการลงทุนครอบคลุมทุกธุรกิจภายใน 5 ปี ตามโรดแมพ 5 กลยุทธ์หลัก ปลื้มผลประกอบการปี62  กำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท โต 109% 
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ยอมรับว่าส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงธุรกิจของแอสเสท เวิรด์ฯซึ่งบริษัทฯมีความห่วงใย และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  รวมไปถึงได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลความปลอดภัย     เรื่องสุขอนามัยภายในโครงการ โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรโรงแรมชั้นนำต่าง ๆ ในการออกนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเข้าพักในโรงแรมและการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุม โดยพิจารณาความเหมาะสมในช่วงเวลาที่เดินทางและประเทศต้นทาง

“ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมปีนี้จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 40% จากเดิมอยู่ที่ 60% ของรายได้รวม โดยจะเห็นได้จากในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีการเลื่อนการจองห้องพักออกไป ส่งผลต่อรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) หายไปราว 30% และคาดว่าในเดือนมีนาคมนี้ จะยังโดนกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในครึ่งปีหลังนี้ หลังสถานการณ์คลี่คลายลง และทำให้ AWC เร่งเครื่องการเติบโตได้อย่างแน่นอน”นางวัลลภา กล่าว

ส่วนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่หายไป ที่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน โดย “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์” ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ในวันหยุดมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 50,000คน/วัน แต่ล่าสุดลดลงเหลือ 15,000-18,000คน/วัน บริษัทฯจะมอบส่วนลดค่าเช่าตามสถานการณ์ผลกระทบด้านจำนวนลูกค้าและเศรษฐกิจของแต่ละโครงการเดือนต่อเดือน และพิจารณามอบความช่วยเหลือเพิ่มตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการในช่วงบ่ายวันนี้ (28ก.พ.63)เพื่อหาแนวทางที่ช่วยเหลืออย่างชัดเจนต่อไป และจะร่วมยืนหยัดรับมือทุกปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด

สำหรับแผนการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2563 ได้ตั้งงบลงทุนไว้มากกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับกับการลงทุนภายใน 5 ปี โดยจะพัฒนาทั้งโครงการโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์มากกว่า 12 โครงการ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมเป็น 8,506 ห้อง และเพิ่มพื้นที่เช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าเป็น 415,481 ตารางเมตร  ภายในปี 2567 ปัจจุบัน บริษัทมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 16 แห่ง คิดเป็นจำนวนรวม 4,869 ห้อง และอยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงอีก 11 แห่ง คิดเป็นจำนวนรวม 3,637 ห้อง โดยจะรวมเป็นทั้งสิ้น 27 แห่ง ซึ่งจะส่งผลทำให้บริษัทฯ มีจำนวนห้องพักมากถึง 8,506 ห้อง ภายในสิ้นปี 2568


ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีการเปิดดำเนินการอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าไปแล้ว 9 โครงการ คิดเป็นพื้นที่เช่า 198,781 ตารางเมตร และอีก 2 โครงการ อยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุง รวมไปถึงอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบความพร้อมต่างๆ อีกทั้งยังมีอาคารสำนักงาน จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นพื้นที่เช่า 270,594 ตารางเมตร โดยโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

โดยแหล่งเงินลงทุนดังกล่าวจะมาจากการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ของกลุ่มธนาคารโลก ซึ่ง AWC และ IFC อยู่ในระหว่างการหารือเพื่อการจัดหาเงินทุนสีเขียว (Green Financing) สำหรับโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Loan) โดย    แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวดังกล่าว ด้วยความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้วยการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และน้ำในอาคารได้อย่างน้อย 20% ขึ้นไป เมื่อเทียบกับโครงการทั่วไป และแผนพัฒนาและดำเนินงานอื่นๆ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของ AWC ที่มุ่งมั่นเพื่ออนาคตที่ดีกว่าและคุณค่าองค์รวมอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยังมีกระแสเงินสดที่เข้ามาปีละ 6,000 ล้านบาท และยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.4 เท่า อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังมีแผนออกหุ้นกู้ ในวงเงินในเกิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำอันดับเครดิตเรทติ้ง และศึกษาอยู่ว่าจะออกเป็น Green Bond หรือไม่

ทั้งนี้การดำเนินการในปี 2563 บริษัทฯ จะเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดเป้าหมาย         เชิงกลยุทธ์ ได้แก่ การสร้างตอบแทนต่อส่วนทุนที่คุ้มค่า การสร้างความแข็งแกร่งและเติบโต            อย่างต่อเนื่องยั่งยืน และการเป็นองค์กรที่น่าชื่นชมและเชื่อถือ ผ่านกลยุทธ์หลัก 5 ข้อ       ของ AWC สำหรับปี 2563 คือ

-เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง (Growth-Led Strategy) มุ่งเน้นให้โครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามแผนการเติบโตของบริษัทมีศักยภาพที่จะสร้างการเติบโตที่ชัดเจนให้บริษัท โดยมีแผนจัดสรรเงินทุนมากกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทั้งโครงการโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์มากกว่า 12 โครงการ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมเป็น 8,506 ห้อง และเพิ่มพื้นที่เช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าเป็น 415,481 ตารางเมตร  ภายในปี 2567

-มุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มรายได้ระดับกลางถึงสูง (Middle to High Income Customer Segment) บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน อันได้แก่ ลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ระดับกลาง   ถึงสูง และนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ที่มีอัตราการเติบโตและอัตราส่วนกำไรต่อรายได้สูง

-สร้างความแข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตรระดับโลก (Global and Unique Partners) เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ ในการแบ่งปันความชำนาญและมาตรฐานการดำเนินงานให้อยู่ในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ จากระบบจัดจำหน่ายทั่วโลก (Global Distribution Channel) โปรแกรมสมาชิก (Loyalty Program) กว่า 300 ล้านสมาชิกของผู้บริหารโรงแรม และเพิ่มตัวเลือกแบรนด์ที่หลากหลายให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น

-เป็นผู้นำตลาด สร้างประสบการณ์ใหม่ให้วงการ (New Benchmark) ด้วยการสร้างสรรค์โครงการขนาดใหญ่และมีจุดดึงดูดเพื่อสร้างขีดการแข่งขันและเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับประเทศ โดยโครงการของบริษัทมีจุดเด่นที่เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการหรือจุดหมาย            การท่องเที่ยวนั้น ๆ อาทิ การส่งเสริมความแข็งแกร่งและยกระดับอุตสากรรมไมซ์ให้กับ    ประเทศไทย การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านเครือข่ายระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้จุดหมายปลายทางที่โครงการของ AWC เปิดดำเนินการ

-พัฒนาและดำเนินธุรกิจเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อคุณค่าองค์รวม (Synergy & Sustainability) การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ด้วยการจัดทำแผนงานเพื่อความยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งในด้านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนจากหน่วยงานต่างๆ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตอบสนองนโยบาย “การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน” ของบริษัทผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิแอสเสท เวิรด์    เพื่อการกุศล (Asset World Foundation for Charity) และ The Gallery วิสาหกิจเพื่อสังคม    ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเดินหน้าสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมไทยแบบองค์รวม

“กลยุทธ์หลัก 5 ข้อ ถูกสนับสนุนด้วยโครงสร้างพื้นฐานและโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ของ AWC ได้แก่      ความชำนาญในด้านการลงทุนและพัฒนาโครงการ ศักยภาพในการบริหารสินทรัพย์เพื่อสร้างคุณค่าและผลตอบแทนเต็มศักยภาพของการลงทุน ทั้งยังมีการลงทุนที่หลากหลายและสมดุลเพื่อบริหารความเสี่ยง   จากการผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของตลาดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อเป้าหมายการเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน” นางวัลลภา กล่าว

นางวัลลภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมานอกจากความสำเร็จจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ผลการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจก็มีอัตรา   การเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ มีกำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 109% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน เติบโต 8.4% ซึ่งกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน แบ่งสัดส่วนเป็น

โรงแรมและการบริการ (Hospitality) 45%

-ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 22%

-ธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office) 33%

โดยรายได้จากพอร์ทโฟลิโอสินทรัพย์ดำเนินงาน เติบโต 3.4% ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ของบริษัทฯในปี 2562 ที่มุ่งเน้นการเติบโต    การปรับปรุงตำแหน่งทางธุรกิจของสินทรัพย์ที่มีอยู่ การพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และการปรับกลยุทธ์พอร์ทการลงทุนเพื่อเน้นผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย โดยผลการดำเนินงาน ของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในปี 2562 พบว่า

-กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1.3% โดยรายได้หลักเพิ่มขึ้นจากโรงแรม    กลุ่มไมซ์ที่เพิ่มขึ้น 6.8% ซึ่งโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่อยู่ในช่วงการดำเนินงานเริ่มต้น (Ramp up) มีรายได้เติบโต 13.9% และมีกำไรจากการดำเนินงานเติบโต 26% ทั้งนี้บริษัทฯมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) สูงกว่าอุตสาหกรรมโรงแรมโดยรวม โดยมีดัชนีชี้วัด (RGI Index) เท่ากับ 108

-กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน(1) เพิ่มขึ้น 7.7% จากความสำเร็จในการเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ได้แก่ เกทเวย์ แอท บางซื่อ ที่มีรายได้เติบโต 1,037% และกำไรจากการดำเนินงานสูงขึ้น 225%  และ ลาซาล อเวนิว ที่มีรายได้เติบโต 175% และกำไรจากการดำเนินงานสูงขึ้นถึง 9,245% ประกอบกับธุรกิจอาคารสำนักงานมีการปรับเปลี่ยน     กลยุทธ์การให้เช่าพื้นที่ให้รองรับความต้องการของลูกค้าและธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่งผลให้มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 6% (ไม่รวมผลการดำเนินงานของสินทรัพย์ที่บริษัทจำหน่ายออกจากกลุ่ม    ในระหว่างปี 2561) และด้วยกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งการจัดซื้อจำนวนมากส่งผลให้การเติบโตของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้สำหรับพอร์ตทรัพย์สินดำเนินงาน สูงขึ้นจาก 48 % เป็น 51%

ขณะที่สินทรัพย์รวมของบริษัทฯเติบโต 17.3% หนี้สินรวมของบริษัทฯลดลงร้อยละ 50.7% จากการนำเงินจากการเพิ่มทุนบางส่วนมาใช้ในการบริหารสภาพคล่องและจ่ายชำระคืนเงินกู้และเตรียมการลงทุนในทรัพย์สินกลุ่ม 3 (บริษัทได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 26,229.5 ล้านบาท) ทำให้บริษัทฯมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยพิจารณาได้จากอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือ 0.4 เท่า

 

หมายเหตุ: พอร์ททรัพย์สินดำเนินงานของบริษัท หมายถึง พอร์ททรัพย์สินที่ดำเนินงานและไม่รวมอาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ โครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า บางกะปิ โรงแรมซี เอช โฮเท็ล และโรงแรมเดอะทานตะวัน โฮเตล สุรวงศ์ แบงค็อก ซึ่งถูกจำหน่ายออกตามแผนการปรับกลยุทธ์พอร์ทการลงทุนเพื่อเน้นผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย และโรงแรมอิมพีเรียลโบ๊ทเฮ้าท์บีชรีสอร์ท ที่หยุดดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโรงแรม ช่วงกลางปี 2561 รวมถึงรายได้จากค่าบริหาร และดอกเบี้ยรับจากบริษัทกลุ่มทีซีซี

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*